วิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์กำลังบั่นทอน "มังกรยักษ์"...!! เศรษฐกิจจีน เผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ ปัญหาหนี้สินท่วมหัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ยอดขายที่อยู่อาศัยซบเซา บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ล้มละลาย ประชาชนออกมาประท้วง เงินทุนไหลออกจากประเทศ
จีนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์
รายงานของ CNN ระบุว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านลงในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเร่งแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 5 ปี (Loan Prime Rate - LPR) จาก 4.2% สู่ระดับ 3.95% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1 ปี ไว้ที่ 3.45% การลดอัตราดอกเบี้ย LPR ครั้งนี้ มีความสำคัญทั้งในเชิงขนาดและจังหวะเวลา นับเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่จีนนำกลไก LPR มาใช้เป็นอัตราอ้างอิงในการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ปี 2019 และยังเกิดขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของยอดขายที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการคงอัตรา LPR ระยะ 5 ปีไว้ติดต่อกันนานถึง 8 เดือนก่อนหน้าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ตอกย้ำภาวะวิกฤตของตลาดในสายตาผู้สังเกตการณ์
อัตราดอกเบี้ย LPR มีผลโดยตรงต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ใช้เป็นเกณฑ์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย การลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้น่าจะนำไปสู่การลดภาระดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่วางแผนจะซื้อบ้าน ส่งผลเชิงบวกต่อความต้องการที่อยู่อาศัยที่ซบเซาอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอในการทำให้ยอดขายฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มเสถียรภาพให้กับภาคการเงินของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา
นักวิเคราะห์จาก Capital Economics เปิดเผยมุมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปี เป็นสัญญาณที่ชัดเจนในการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้จะยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่โดยตรง แต่เมื่อผนวกกับนโยบายในการเพิ่มการสนับสนุนสินเชื่อแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินควบคู่กัน ย่อมมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ
วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์จีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เศรษฐกิจจีนประสบภาวะชะลอตัวอันเนื่องมาจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ นโยบายควบคุมการกู้ยืมของภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรัฐบาลส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อสะท้อนผ่านตัวชี้วัดการลงทุนและยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จำนวนมากผิดนัดชำระหนี้ รวมถึง Evergrande อดีตบริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับสองของประเทศซึ่งได้รับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เมื่อเดือนที่ผ่านมา
วิกฤตการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การประท้วงในวงกว้าง ทั้งจากแรงงานก่อสร้างที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผู้ซื้อบ้านที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบ และนักลงทุนที่ประสบภาวะขาดทุนทางการเงิน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจการเงินนอกระบบ (Shadow Banking) โดย Zhongrong Trust ประกาศภาวะล้มละลายครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว จากการผิดนัดชำระหนี้
รัฐบาลจีนพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มาตรการที่นำมาใช้ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดเงินดาวน์ ผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบการ และการลดข้อจำกัดการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่างๆ
เงินทุนไหลออกจากจีน บทเรียนราคาแพงของนักลงทุน
เศรษฐกิจจีนประสบกับความท้าทายมากมายทั้งภาวะเงินฝืด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง และการเร่งตัวของกระแสเงินทุนไหลออก โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange) ระบุว่า มูลค่าหนี้สินจากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในจีน ณ ปี 2566 อยู่ที่ 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ถึงมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากนิติบุคคลต่างชาติในจีน ลดลง 82% เมื่อเทียบกับปี 2565 และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2536
ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกนี้ประกอบด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง นอกจากนี้ บริษัทและนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน รวมถึงความเป็นไปได้ในการถูกตรวจสอบและควบคุมตัวตลาดหลักทรัพย์ของจีนเผชิญกับภาวะซบเซายืดเยื้อตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 2564 โดยมูลค่าตลาดที่หายไปจากตลาดเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และฮ่องกงรวมกันแล้วมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ หวังกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่มาตรการนี้เพียงพอหรือไม่ และ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ร่วมถึงภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร? บทสรุปของเรื่องราวนี้ เราคงต่อรอติดตามกันต่อไป
ที่มา CNN