ธุรกิจการตลาด

Sephora ม้วนเสื่อปิดกิจการในเกาหลีใต้ เหตุแข่งขันสูง สู้เชนร้านเจ้าถิ่นไม่ไหว

20 มี.ค. 67
Sephora ม้วนเสื่อปิดกิจการในเกาหลีใต้ เหตุแข่งขันสูง สู้เชนร้านเจ้าถิ่นไม่ไหว

Sephora เชนร้านเครื่องสำอางใหญ่จากฝรั่งเศส เตรียมทยอยปิดกิจการทั้งหมดภายในเกาหลีใต้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมที่จะถึง เหตุการแข่งขันสูง ไม่สามารถสร้างจุดเด่นสู้กับเชนร้านเครื่องสำอางเจ้าถิ่นได้

Sephora ปิดตัวลงหลังจากเข้าไปตีตลาดเกาหลีใต้ในปี 2019 หรือหลังจากดำเนินธุรกิจได้เพียงประมาณ 4 ปี โดยแม้สาขาแรกที่ห้างสรรพสินค้า Parnas Mall ที่ย่านซัมซองจะได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีเพราะเป็นของใหม่ Sephora ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และขาดทุนมาติดต่อกันหลายปี

จากเอกสารการเงินของ Sephora เกาหลี ในปี 2021 บริษัทมีรายได้ทั้งหมด 1.24 หมื่นล้านวอน หรือราว  334 ล้านบาท ขาดทุนทั้งหมด 1.42 หมื่นล้านวอน หรือราว 383 ล้านบาท ก่อนที่ในปี 2022 รายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.37 หมื่นล้านวอน หรือราว 369 ล้านบาท แต่ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.76 หมื่นล้านวอน หรือราว 474 ล้านบาท จากต้นทุนในการเปิดสาขาเพิ่ม

ปัจจุบัน Sephora มีสาขาในประเทศเกาหลีทั้งหมด 5 สาขา และมีบริการบนร้านค้าออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นมือถือ โดยหลังจากประกาศปิดกิจการในวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว Sephora จะทยอยทำโปรโมชั่นลดราคาเพื่อระบายสินค้า และเริ่มปิดหน้าร้านลงในวันที่ 6 พฤษภาคม

ตีตลาดสู้เจ้าถิ่นไม่ได้ ไม่มีจุดเด่น 

Sephora เป็นเชนร้านเครื่องสำอางที่ก่อตั้งในปี 1970 โดย Louis Vuitton Moet Hennessy Group (LVMH) เครือแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขามากกว่า 2,700 สาขาใน 35 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย ทำให้ Sephora ถือว่าเป็นเชนร้านค้าปลีกเครื่องสำอางที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม Sephora ไม่สามารถอยู่รอดในตลาดเครื่องสำอางเกาหลีใต้ได้ เพราะเกาหลีใต้เป็นตลาดความงามที่มีจำนวนผู้เล่นมาก ทำให้แข่งขันสูง อีกทั้งยังมีเชน ‘Olive Young’ ของ CJ Olive Young ที่เป็นเจ้าใหญ่ในตลาดอยู่แล้ว โดย Olive Young นั้นปัจจุบันมีสาขากว่า 1,300 สาขาทั่วเกาหลีใต้ และเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากจนเชนอื่นๆ ภายในประเทศเองก็สู้ลำบาก

ดังนั้น เชนร้านเครื่องสำอางจากต่างประเทศจึงมีโอกาสรอดต่ำมากในเกาหลีใต้ถ้าไม่สามารถสร้างจุดเด่นให้กับร้านของตัวเองได้ เช่น การจำหน่ายสินค้าที่ exclusive ไม่มีจำหน่ายที่อื่น บริการเสริม หรือว่าสู้กันด้วยราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ Sephora ทำไม่ได้

ในช่วงที่ Sephora เปิดตัวในเกาหลีใต้ในปี 2019 Sephora ก็ต้องเจอผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัทขาดรายได้จากชาวต่างชาติอยู่แล้ว แต่ถึงแม้หลังช่วงโควิด-19 มาแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะสินค้าใน Sephora มักจะเป็นสินค้าต่างประเทศราคาสูง และมีความหลากหลายน้อยกว่าเชน Olive Young ที่มีทั้งสินค้าความงามเกาหลีใต้ที่มีราคาต่ำกว่า และสินค้าต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคเกาหลียังนิยมซื้อเครื่องสำอางต่างประเทศ หรือเคาน์เตอร์แบรนด์ในห้างสรรพสินค้ามากกว่า เพราะมีการจัดโปรโมชั่น มีส่วนลดบ่อยกว่าจากระบบสมาชิก และอื่นๆ ทำให้นอกจาก Sephora จะมีสินค้าน้อยกว่าคู่แข่งแล้ว ยังไม่สามารถสู้กับคู่แข่งที่ขายสินค้าในระดับราคาเดียวกันได้อีก

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ Sephora ตีตลาดไม่สำเร็จ เพราะในตลาดเอเชียอื่นๆ ที่มีเชนหรืออุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางที่แข็งแรงภายในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น Sephora ก็ตีตลาดไม่แตกเช่นกัน จนต้องปิดธุรกิจลงในระยะเวลาเพียงสองปีหลังเปิดตัวในปี 1999

 

ที่มา: BOF, KoreaJoongangDaily, The Chosun Daily

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT