ในที่สุดประเทศไทยก็กำลังจะมี Virtual Bank หรือว่าธนาคารไร้สาขากันแล้ว หลังจากทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาประกาศกฎระเบียบและคุณสมบัติของผู้จัดตั้ง Virtual Bank อย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารไร้สาขาที่ดำเนินธุรกิจทางช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นทั้งหมด ดูจะเป็นคอนเซปที่เข้าใจง่าย หลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าธนาคารไร้สาขานั้นต่างจาก Mobile Banking ที่มีอยู่แล้วอย่างไร ทำไมต้องมีการตั้งธุรกิจใหม่แยกออกมาต่างหาก ถ้าทุกวันนี้ธนาคารทั่วไปก็ให้บริการทางแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จัก Virtual Bank กันว่าพิเศษกว่า Mobile Banking ทั่วไปอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างบริการจาก 3 Virtual Bank ยักษ์ใหญ่ของเอเชีย คือ KakaoBank จากเกาหลีใต้, Rakuten Bank จากญี่ปุ่น และ WeBank จากจีน ที่จะมาทำให้ผู้อ่านเข้าใจเอกลักษณ์ของ Virtual Bank ได้ดีมากยิ่งขึ้น
แม้จะนิยมให้บริการในแอปพลิเคชั่น และมีบริการพื้นฐานคล้ายกัน Virtual Bank แตกต่างจาก Mobile Banking ในแง่ของ วีธีการดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมาย และบริการพิเศษที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลักแตกต่างกัน
ขณะที่บริการบน Mobile Banking เป็นบริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป บริการบน Virtual Bank เป็นบริการการเงินที่ถูกออกแบบมาผ่านการใช้เทคโนโลยีและข้อมูล และต้องมีความแปลกใหม่ เน้นให้บริการกับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ จากทั้งข้อจำกัดด้านฐานะ และสังคม เช่น ธุรกิจ SMEs หรือคนไม่มีรายได้ประจำที่ขอสินเชื่อได้ลำบาก หรือ คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร เพราะติดปัญหาด้านเอกสารหรืออื่นๆ
โดยปัจจัยที่ทำให้ Virtual Bank สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นคนที่มีทุนน้อยหรือมีข้อมูลเครดิตไม่เพียงพอได้มากกว่าคือ ‘ต้นทุนที่ต่ำ’ จากการที่ธนาคารประเภทนี้ไม่มีต้นทุนในด้านสถานที่ อุปกรณ์ ตู้ ATM หรือพนักงาน และเทคโนโลยีในการเก็บและประมวลผลพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าที่ทำให้ธนาคารตัดสินใจให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องยุ่งยากให้คนตรวจ
ดังนั้น คุณสมบัติที่ Virtual Bank จะต้องมีอย่างแน่นอน ก็คือความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และการนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บรวบรวมได้บนแพลตฟอร์ม ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มาคิดค้นบริการภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่เหนือไปกว่าบริการการเงินของธนาคารพาณิชย์ธรรมดา และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (unserved) หรือกลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการการเงินในระบบได้ไม่มากเท่าที่ควร (underserved) ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากอธิบายเพียงเท่านี้ หลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกว่าคอนเซปบริการการเงินของ Virtual Banl นั้นมีความเป็นนามธรรม เพราะมองภาพไม่ออกว่าบริการการเงินแปลกใหม่ที่ช่วยให้ธุรกิจหรือประชาชนรายย่อยสามารถเก็บออม ลงทุน หรือเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้นนั้นเป็นแบบไหน
ในบทความนี้ เราจึงเลือกบริการตัวอย่างของ Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จของเอเชียมาให้ดูกัน ว่าคนไทยจะสามารถคาดหวังอะไรจากธนาคารไร้สาขาแห่งแรกของไทยที่มีกำหนดเปิดตัวในเดือนมิถุนายนปี 2026 ได้บ้าง โดยจะประกอบไปด้วยบริการตัวอย่างจาก 3 Virtual Bank คือ KakaoBank, Rakuten Bank และ WeBank
KakaoBank เป็นธนาคารไร้สาขาภายใต้การดูแลของ Kakao Corporation บริษัทอินเทอร์เน็ตเจ้าของแอปพลิเคชั่นแชทที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดในเกาหลีใต้ คือ KakaoTalk ทำให้หากผู้ใช้มีบัญชี KakaoTalk ก็สามารถเปิดบัญชีกับ KakaoBank ได้ทันทีโดยไม่ต้องส่งเอกสารยืนยันตัวเหมือนการเปิดบัญชีธนาคารปกติ
KakaoBank มีบริการรับเงินจากนายจ้างและสามารถรับเงินจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้ทำให้การโอนเงินเข้าบัญชี KakaoBank ทำได้ง่าย และยังสามารถโอนเงินระหว่างบัญชีได้ง่ายดายเพียงเพิ่มคนที่เราอยากทำธุรกรรมด้วยเป็นเพื่อนใน KakaoTalk หรือขอหมายเลขบัญชี
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า KakaoBank มีระบบที่ช่วยทำให้บริการพื้นฐานของธนาคารเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เข้าถึงได้ง่ายกว่าการเปิดบัญชีธรรมดาที่ต้องใช้เอกสารมากมาย และสามารถโอนเงินให้กันได้อย่างอิสระและง่ายดายโดยไม่ต้องขอเลขบัญชี
ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาบริการพื้นฐานแล้ว KakaoBank ยังมีระบบออมเงินที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ออมเงินได้ง่ายและมากขึ้น เช่น บริการ Safe Box เก็บเงิน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึงที่ 2.6% ต่อปี อีกทั้งยังไม่กำหนดจำนวนวันขั้นต่ำ และ ระบบเก็บเงินติดต่อกันทุกวัน 31 วัน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึงดอกเบี้ย 8%
นอกจากนี้ KakaoBank ยังมีบริการสินเชื่อรายย่อยให้คนเข้าถึงเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น เช่น บริการ micro lending ที่ให้ผู้ใช้กดยืมได้ทันทีสูงสุดถึง 3 ล้านวอน หรือราว 8 หมื่นบาท สำหรับคนที่ต้องใช้เงินด่วน หรือเอาตัวรอดก่อนเงินเดือนออก และบริการสินเชื่อสูงสุด 300 ล้านวอน หรือราว 8 ล้านบาท เพียงมีงานประจำ มีเงินเดือนเข้าทุกเดือน และมีประวัติเครดิตเรตติ้งดี
Rakuten Bank เป็นธนาคารไร้สาขาภายใต้ Rakuten บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งมีบริการโดดเด่นมากมาย ครอบคลุมไปถึงบริการรับฝากโอนเงินธรรมดา บริการสินเชื่อ บริการโอนเงินข้ามประเทศ บริการล็อตเตอรี่ บริการแลกเปลี่ยนเงิน และบริการจัดการทรัพย์สิน
โดยในหมู่บริการทั้งหมด บริการที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage) ที่เปิดให้ผู้สูงอายุเกิน 50 ปี ขายบ้านให้กับธนาคาร หรือใช้บ้านค้ำประกัน เพื่อรับเงินก้อนทุกเดือน ทำให้ผู้ที่เข้ารับบริการนี้จะได้รับเงินจากธนาคารทุกเดือน แต่จะต้องจ่ายเพียงดอกเบี้ย 2.95% ต่อเดือน เท่านั้น โดยครั้งหนึ่งจะกู้ได้ประมาณ 1 ล้าน ถึง 100 ล้านเยน หรือราว 240,000 ถึง 24,000,000 ล้านบาท
บริการนี้ทำให้ Rakuten Bank ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในธนาคารไร้สาขาที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลหา pain point ของลูกค้าผู้สูงอายุ ที่มีบ้านอยู่ แต่ต้องการเงินมาใช้ชีวิตในยามบั้นปลาย และเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก แต่มีเด็กเกิดลดลง
นอกจากนี้ Rakuten ยังมีบริการลงทุนในหุ้น กองทุน กองทรัสต์ รวมไปถึงบริการประกันภัย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงการลงทุน และแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
WeBank เป็นธนาคารไร้สาขาซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน และกลุ่มทุนอื่นๆ เช่น Baiyeyuan และ Liye Group ปัจจุบัน มีบริการอยู่ 7 กลุ่มใหญ่ๆ แต่ที่โดดเด่นและเข้าถึงผู้ใช้รายย่อยได้อย่างแท้จริง ก็คือ
ในประเทศจีน บริการสินเชื่อรายย่อยนอกธนาคารพาณิชย์แบบนี้เป็นบริการที่สำคัญมาก เพราะธนาคารพาณิชย์ในจีนจะให้เงินทุนแก่บริษัทใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ในประเทศเป็นไปได้ยากมากหากไม่มีบริการเหล่านี้ ทำให้ถือได้ว่าธนาคารไร้สาขา หรือธนาคารดิจิทัลในจีน เป็นธุรกิจที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย, Rakuten Bank, WeBank, Kakaobank