ปตท. กำลังศึกษาเพื่อตั้งปั้มไฮโดรเจนสีเขียว สำหรับรถบรรทุกและรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) อื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งจะช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด
ปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำงานเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (carbon footprint) สร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจและบริษัทไทยที่ต้องทำตามมาตรฐานสากลในการควบคุมผลกระทบของการทำธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะเข้าไปแข่งขันในเวทีโลกได้
ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด แน่นอนว่าหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ ได้แก่
- ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึง ไฮโดรเจน
- ธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์, ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle), ธุรกิจค้าปลีก Non-oil และ ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization)
จากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปตท. มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างกำไรจากธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากพลังงานให้มากกว่า 30% ของกำไรทั้งหมด ภายในปี 2030 พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2020 ลง 15% ภายในปี 2030
ทั้งนี้ ในหมู่ธุรกิจใหม่ทั้งหมด ธุรกิจที่ปตท. กำลังผลักดันเป็นอย่างมาก คือ ‘พลังงานไฮโดรเจน’ เชื้อเพลิงที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในฐานะหนึ่งในพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งนอกเหนือจากพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะสำหรับรถบรรทุก และรถขนส่งขนาดใหญ่ ที่ถ้าหากขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าก็จะมี pain point เรื่องขนาดแบตเตอรี่
ศึกษาตั้งปั้มไฮโดรเจนสำหรับรถขนส่งในเขตศก. พิเศษ EEC
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ปตท. และชมรม Hydrogen Thailand Club กำลังศึกษาเพื่อริเริ่มจัดตั้งปั้มไฮโดรเจนสำหรับรถบรรทุก หรือรถขนส่ง fuel cell หรือ FCEV อยู่ เพราะเห็นว่ารถขนส่งมีเส้นทางเดินทางแน่นอน ทำให้หาที่ตั้งที่เหมาะสมได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างกระจายเป็นจำนวนมาก
ดร.บุรณิน เผยว่า กลุ่มไฮโดรเจนคลับวางแผนจะเริ่มสร้างปั้มไฮโดรเจนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC ก่อนจะกระจายไปที่อื่น โดยวางแผนจะสร้างซัพพลายไฮโดรเจนให้กับปั้มใน 2 รูปแบบ คือ
1. สร้างที่เก็บไฮโดรเจนที่จะถูกลำเลียงมาจากที่อื่น
2. สร้างโรง Water Electrolysis ซึ่งจะใช้พลังงานไฟฟ้าในการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ว่านั้นควรจะถูกผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือมีต้นทุนที่สูง
ขณะนี้ ปตท. ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าจะออกแบบปั้มอย่างไร หรือจะตั้งราคาอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับผู้บริโภคในประเทศ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา อีกทั้ง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลจะมีการสนับสนุนราคาไฮโดรเจนหรือไม่ และยังจะต้องวางแผนกับพาร์ทเนอร์คือ Toyota ในการนำรถบรรทุกแบบ fuel cell เข้ามาใช้ในประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ปตท. มีปั้มไฮโดรเจนเพื่อทดลองนำร่องใช้อยู่แล้วแห่งหนึ่งในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จากความร่วมมือกับ Toyota แต่ยังมีรถยนต์ fuel cell ที่ผลิตและนำเข้ามาโดย Toyota เพียง 4 คัน เท่านั้นที่ใช้บริการอยู่ในขณะนี้ เพราะไทยยังไม่มีรถเล็ก fuel cell ใช้มากนัก เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนยังไม่เป็นที่รู้จัก และคนใช้รถเล็กขณะนี้นิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีโครงสร้างพื้นฐานกว้างขวางกว่า
พลังงานไฮโดรเจนคืออะไร? มีข้อดีอย่างไร?
พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่ไม่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ ทำให้ไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาเมื่อถูกใช้ หลายประเทศจึงให้ความสนใจในการใช้ไฮโดรเจนในหลายรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งต่างๆ ทั้งในรถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ และเรือ หรือการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อนคุณภาพสูงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ไฮโดรเจนสามารถผลิตได้จากแหล่งวัตถุดิบหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และจากพลังงานไฟฟ้า และในแต่ละการผลิตไฮโดรเจนก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่างกันด้วย เพราะถ้าหากผลิตจากถ่านหินก็จะมีการปล่อยคาร์บอนมาก
ดังนั้น ไฮโดรเจนที่สะอาดที่สุด คือ “ไฮโดรเจนสีเขียว” กล่าวคือไฮโดรเจนที่ผลิตจากกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ โดยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้านั้น ต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) หรือ พลังงานลม (Wind Energy)
โดยไฮโดรเจนสีเขียวมักจะถูกผลิตในกระบวนการที่เรียกว่า Water Electrolysis หรือการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำบริสุทธิ์ โดยเทคโนโลยี Water Electrolysis ที่มีใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 เทคโนโลยี ได้แก่
- Alkaline Electrolysis (ALK)
- Proton Exchange Membrane Electrolysis (PEM)
ทั้งสองเทคโนโลยีนี้ ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้งานในการผลิตไฮโดรเจนใน Scale ที่ใหญ่ (>5 MW ขึ้นไป) และมีการใช้งานร่วมกับพลังงานหมุนเวียน
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายนปี 2023 ปตท. สผ. และ 5 บริษัทชั้นนำของโลกจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี
โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW)
การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิตทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลวเพื่อสะดวกในการขนส่งจะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม
ทั้งนี้ ปตท. สผ. คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานทั้งหมดในปี 2027 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2030 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน
โดยปตท.สผ.ได้มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่
- โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ
- โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่
- โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12
- โครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน