เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณบวก แม้จะเผชิญวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลจีนทุ่มเทรับมือด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 5 ล้านล้านหยวน
จากรายงานของทาง Reuters ระบุว่า ประเทศจีนได้เผยข้อมูลภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนมีนาคมนี้มีการเติบโตขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งปี เป็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นปัญหาหลักก็ตาม
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 50.8 ในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าจุด 50 แต่นี่ถือว่าเป็นตัวเลข PMI ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว นักวิเคราะห์มองว่าอุปสงค์และอุปทานในประเทศดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้านและภาคธุรกิจกำลังฟื้นตัว รวมถึงความต้องการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านการส่งออกเองก็มีแนวโน้มขาขึ้นหลังจากหดตัวมา 11 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตามภาคแรงงานยังคงอ่อนแออยู่ แม้จะเริ่มเห็นการชะลอตัวของอัตราคนตกงานบ้างแล้ว
ตั้งแต่จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดปลายปี 2022 รัฐบาลจีนได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแรง โดยมีปัจจัยถ่วงสำคัญอย่างวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ หนี้ภาครัฐที่เพิ่มพูน และความต้องการสินค้าจีนจากต่างประเทศที่ลดลง
"ข้อมูลเดือนมีนาคมชี้ว่าเศรษฐกิจจีนจะปิดไตรมาสแรกอย่างแข็งแกร่ง" บริษัทที่ปรึกษา China Beige Book ระบุ "ภาคการจ้างงานฟื้นตัวต่อเนื่องยาวนานที่สุดตั้งแต่ปลายปี 2020 รวมถึงภาคการผลิตและค้าปลีกเริ่มขยับ"
ด้านดัชนีวัดภาคบริการและการก่อสร้าง (PMI) ของทางการเพิ่มขึ้นเป็น 53 จาก 51.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่าสูงสุดตั้งแต่เดือนกันยายน แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนอย่างหนัก และกระทบต่อเสถียรภาพหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นและธนาคารของรัฐ
นายกรัฐมนตรี Li Qiang (หลี่ เค่อเฉียง) ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2024 ไว้ที่ประมาณ 5% ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปีเมื่อต้นเดือนมีนาคม แต่นักวิเคราะห์มองว่าจีนจำเป็นต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
ด้าน ซิตี้กรุ๊ป ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้เป็น 5.0% จาก 4.6% อ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจบวกช่วงนี้และนโยบายรัฐ
เมื่อเร็วๆนี้ทางคณะรัฐมนตรีจีนเพิ่งอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหัวหน้าฝ่ายวางแผนแห่งชาติจีนเผยว่าแผนนี้จะสร้างความต้องการในตลาดกว่า 5 ล้านล้านหยวนต่อปี (ราว 691 พันล้านดอลลาร์)
ฝั่งนักวิเคราะห์หลายรายกังวลว่าจีนอาจเจอภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษนี้ หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาการบริโภคของประชาชนและการจัดสรรทรัพยากรโดยตลาด แทนที่จะทุ่มไปกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างในอดีต สำหรับข้อมูลเชิงบวกนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังดีขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปีนี้
ที่มา Reuters