หลายๆ คนอาจจะมองว่า หากเราอยากทำธุรกิจ ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อยๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่คำสอนนี้อาจใช้ไม่ได้กับ ชายสูงวัยอายุกว่า 65 ปี ที่มักใส่สูทสีขาว ผูกไทสีดำ มีหนวดเคราเพะ และผมสีขาว ใช่ค่ะ เรากําลังพูดถึง ’ผู้พันแซนเดอร์ส’ นักสร้างร้านไก่ทอดชื่อดังในตำนาน อย่าง KFC Kentucky Fried Chicken
บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาทุกไปถอดบทเรียนความสำเร็จร้านไก่ทอดชื่อดัง กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ KFC
1.‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ชายที่ล้มเหลวมา(เกือบ)ทั้งชีวิต
‘ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส’ (Harland David Sanders) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ชายผู้ก่อตั้งเชนอาหาร Fast Food ไก่ทอด ชื่อดังสัญชาติอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1890 ณ รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ลำบากทำให้เขาต้องทำงานหนักมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทาสีรถม้า, ทหารรับจ้าง, คนขายประกัน, ผู้ควบคุมขบวนรถไฟ, กรรมกรก่อสร้าง และอื่นๆอีกมากมาย แต่เชื่อไหมคะว่าเค้าก็ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพใดๆเลย
หากใครเจอสถานการณ์แบบนี้เชื่อว่า หลายคนอาจหมดใจจะสู้ต่อ ทว่าผู้พันแซนเดอร์สไม่เป็นเช่นนั้น เค้ากลับมองเป็นการได้เรียนรู้คุณค่าของการทำงานหนัก พร้อมกับสู้ต่อจนสามารถซื้อปั๊มน้ำมันและคิดค้นสูตรไก่ทอดสุดพิเศษปรุงด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศกว่า 11 ชนิด ได้สำเร็จ
2.โดนปฎิเสธมา 1,009 ครั้ง และสุดท้ายประสบความสำเร็จครั้งที่ 1,010
เส้นทางธุรกิจก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่สามารถสำเร็จได้ชั่วข้ามคืน และความพยายามไม่เคยทรยศใคร ในตอนที่ผู้พันแซนเดอร์ส ต้องการจะขยายสาขา KFC ในรูปแบบแฟรนไชส์ ผู้พันแซนเดอร์สได้ไปนำเสนอขายในหลายที่และถูกปฏิเสธถึง 1,009 ครั้ง และในครั้งที่ 1,010 ไก่ทอดของผู้พันแวนเดอร์สได้รับการยอมรับในที่สุด จนสามารถเปิดร้าน Kentucky Fried Chicken หรือ KFC แห่งแรกในปี 1952 ที่เมืองซอลต์เลก ในรัฐยูทาห์
และสามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็วถึง 600 สาขาทั้งในสหรัฐ และต่างประเทศ ภายในเวลา 12 ปีถัดมาก หรือในปี 1964 หลังจากการขายกิจการ ให้แก่ John Y. Brown Jr. และ Jack Massey ที่เป็นนักธุรกิจในเคนทักกี เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ภาพจำของ KFC ตัวอย่างการสร้างตัวตนจนโลกต้องจำ
หลายๆ คนคงจดจำแบรนด์ KFC ด้วย เมนูไก่ทอดสุดกรอบ เนื้อนุ่มที่แสนอร่อย เพื่อนหิวในเวลาเร่งรีบ หรือ เพื่อนยามดึกของใครหลายคน แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเหมือนภาพจำของแบรนด์นั้นก็คือชื่อของผู้พันแซนเดอร์ส จนใครต่อใครอาจคิดว่า อาชีพของเค้าก่อนหน้านี้คงได้รับราชการเป็นทหารแน่ๆ
แต่รู้หรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วตำแหน่ง’ผู้พัน’ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมกองทัพ แต่เป็นตำแหน่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่มหาเศรษฐีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจากการเฉลิมเกียรติยศสูงสุดของรัฐเคนทักกี เมื่อปี 1950 (Kentucky Colonel)
โดยหลังจากนั้นเค้าได้สร้างภาพจำ สร้างเอกลักษณ์ และเป็นมาสคอตให้แก่ร้านตัวเอง ด้วยการเป็นชายแก่ ผมสีขาว ไว้หนวดเคราแพะ ที่มักจะใส่สูทสีขาวและผูกไทสีดำเสมอ ซึ่งการสร้างตัวตนของเค้า ทำให้ผู้พันแซนเดอร์ส กลายมาเป็น iconic แห่ง KFC ไปจนถึงสามารถเรียกร้องเงินประจำปี ค่าแบรนด์แอมบาสเดอร์กับ Heublein บริษัทที่ซื้อแฟรนไชส์ KFC ไป ด้วยเงินกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ/ปี หรือราว 1,481,380 บาท เลยทีเดียว
ทำให้ทุกครั้งที่มีการโมษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์ ผู้พันแซนเดอร์สจะทำหน้าที่เป็นเหมือนโฆษกของแบรนด์ และปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ด้วยตนเองอยู่ตลอด
4.ออกเมนูท้องถิ่น เพื่อมัดใจลูกค้ากลุ่มในทุกประเทศ
หากเราเคยได้ไปลิ้มลอง KFC สาขาอื่นๆ ในต่างประเทศ เราจะพบว่า KFC ได้มีการออกเมนูใหม่ๆ ที่หลากหลาย เพื่อปรับรสให้ถูกปากกับผู้บริโภคในแต่ละเมืองแต่ละประเทศแต่ก็ยังคงมาตรฐานรสชาติในแบบ KFC เอาไว้
ประเทศไทย
เมนูวิ๊งค์แซ่บ ข้าวยำไก่แซ่บ, ข้าวยำไก่ซี๊ด, ข้าวไก่ทอกแกงเขียวหวาน เมนูอาหารที่ใครต่อใครเป็นต้องมาสั่งทุกรายเมื่อมาประเทศไทย
ประเทศเกาหลีใต้
เมนูchimaek ไก่ทอดกรอบตามสไตล์ KFC แต่มีการเสิร์ฟพร้อมกับเบียร์สดรสนุ่ม เพื่อมัดใจชาวเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่มีการดื่มหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ประเทศจีน
KFC ในประเทศจีน จะมีการเสิร์ฟซุปไก่ร้อนๆ ฟรี เพราะผู้บริโภคชาวจีนนิยมทานของร้อน และต้องมีน้ำซุปทานระหว่างมื้อ จากนั้นก็มีการปรับรสชาติไก่ทอดอย่างต่อเนื่อง และยังมีการเพิ่มผักสดอย่าง แตงกวาหั่นบาง หัวหอม และซอสเป็ด เพื่อมัดใจผู้บริโภคชาวจีนอีกด้วย
5.KFC ขึ้นแท่นร้านอาหารไก่ทอด Fast Food ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ตลาดไก่ทอดในไทย
ปัจจุบัน KFC เป็นแบรนด์ในเครือ บริษัท Yum! Brands หนึ่งในบริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก อย่าง Taco Ball, Pizza Hut, McDonald’s ทำให้ KFC มีสาขามากกว่า 29,000 สาขา ใน 147 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีสาขา KFC มากที่สุด นั่นก็คือ ประเทศจีน ที่มีสาขามากถึง 7,166 สาขา ตามมาด้วยสหรัฐกว่า 3,943 สาขา
แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ในตลาดเชนร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) ในไทยที่ประกอบด้วย 3 เซ็กเมนต์หลัก คือ ไก่ทอด – เบอร์เกอร์ – พิซซ่า มูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านบาท/ปี
หากเจาะลึกมาที่เซ็กเมนต์ใหญ่สุดของตลาด QSR ในไทย จะพบว่า ตลาดไก่ทอด เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และมีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท/ปี และ KFC สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 90 % ภายใต้บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ครองตลาดด้วยจำนวนสาขา1,000 สาขา นับเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยสาขาทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริการของ 3 แฟรนไชส์พาร์ทเนอร์หลักๆ นั้นก็คือ
- บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (ไทยเบฟกรุ๊ป) 430 สาขา
ส่องผลประกอบการ 2 ปี ย้อนหลัง
ปี 2564 : รายได้รวม 7,136,017,495 บาท ขาดทุนสุทธิ -47,306,739 บาท
ปี 2565 : รายได้รวม 8,522,938,823 บาท กำไรสุทธิ 232,449,709 บาท
- บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) 320 สาขา
ส่องผลประกอบการ 2 ปี ย้อนหลัง
ปี 2564 : รายได้รวม 8,562,516,421บาท กำไรสุทธิ 269,598,052 บาท
ปี 2565 : รายได้รวม 10,608,052,056 บาท ขาดทุนสุทธิ -37,440,807 บาท
- บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) 250 สาขา
องผลประกอบการ 2 ปี ย้อนหลัง
ปี 2564 : รายได้รวม 3,856,423,752บาท ขาดทุนสุทธิ -232,062,089 บาท
ปี 2565 : รายได้รวม 4,991,335,325บาท กำไรสุทธิ 449,145,138 บาท
โดยทุกแฟรนไชส์ของ KFC กว่า 29,000 สาขา ทั่วโลก ได้ยึดอุดมการณ์สูงสุดของ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ 3 ข้อ ในการขับเคลื่อนองค์กร นั่นก็คือ คุณภาพของอาหาร ความสะอาดของอาหารและร้าน และการให้บริการที่ดี
อย่างไรก็ตาม หากเราได้อ่านประวัติของ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ชายผู้ก่อตั้งเเบรนด์ KFC อาจทําให้เราได้บทเรียนทั้งในเเง่ของการใช้ชีวิต หรือ บทเรียนการทําธุรกิจ ที่ไม่มีใครเก่งมาตั้งเเต่เกิด ไม่มีใครไม่เคยล้มเหลว เเต่ความพยายามเเละความอดทนเท่านั้น ที่จะได้ทําให้เราประสบความสําเร็จได้ เหมือนกับที่‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกความล้มเหลว คือ บันไดก้าวสู่ชีวิตที่ดีขึ้น”