Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ศึกชิงนักท่องเที่ยวที่นับวันยิ่งดุเดือดของ เซ็นทรัล VS เดอะมอลล์
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ศึกชิงนักท่องเที่ยวที่นับวันยิ่งดุเดือดของ เซ็นทรัล VS เดอะมอลล์

1 พ.ค. 67
23:31 น.
|
995
แชร์

ปี 2567 นี้ ไม่มีธุรกิจไหนที่จะเมินอิทธิพลและกำลังซื้อของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปได้ เนื่องจากเป็นเครื่องจักทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังไปได้ดี มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับภาคการส่งออกที่เพิ่งเปิดเผยตัวเลขเดือนมีนาคมที่ผ่านมาติดลบถึง 10.9% สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าางและการแข่งขันที่’ออกอาการ’มากขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยระหว่าง 1มค-25เมย ที่ผ่านนมาทะลุ 11 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนครองแชมป์ที่ 2.15 ล้านคน ตามมาด้วยมาเลเซีย 1.46 ล้านคน รัสเซีย 7.2 แสนคน เกาหลีใต้ 6.4 แสนคนและอินเดีย 5.8 แสนคน แม้จบจากเทศกาลมหาสงกรานต์ที่ประสบความสำเร็จและเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นแล้ว ทุกภาคส่วนก้ยังคาดหวังว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะไปถึงเป้าที่ 3.3 ล้านล้าน

การจับจ่ายใช้สอย สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆคือสิงที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกทำเมื่อเดินทางไปพักผ่อน เมื่อคนเราเข้าโหมดของการเป็นนักท่องเที่ยว ก็จะใช้เงินง่ายขึ้น มีเหตุผลสารพัดอย่างที่จะสนับสนุนทุกกิจกรรมทีทำ การสร้างประสบการณ์เชิงบวก (Customer Experience) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง...และคนที่ทำเรื่องนี้ได้เก่งที่สุด ก็คือห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั้งหลายนั่นเอง

ถ้าลองสังเกตดูผู้คนที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯและจังหวัดท่องเที่ยวตอนนี้ จะเห็นชาวต่างชาติเดินกันขวักไขว่ หลากหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงตั้งใจทุ่มงบประมาณปรับปรุงพื้นที่ของตนเองเพื่อตอบโจทย์ลูกค้านักท่องเที่ยวกันทั้งหมด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโครงการเซ็นทรัลทำ ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เปิดสาขาเรือธงที่เซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัล ภูเก็ต ชูจุดขายสินค้าไทยเชื่อมโยงเศรฐกิจชุมชน ดันแบรนด์ ‘Good Goods’จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไลต์เอาใจนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนที่จะต้องมาแวะเวียนซื้อของฝาก ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาดโดยรายได้ปี 2566 ทะลุ 200 ล้านบาท หรือโตกว่า 7 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 

เซ็นทรัลทำ 

ขณะที่เดอะมอลล์ออกตัวได้ดีเยี่ยมตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมากับการเปิดศูนย์การค้า ‘เอ็มสเฟียร์’ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของย่าน ‘เอ็ม ดิสทริค’ บนพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร ดึงร้านอาหารดังโดยเฉพาะสตรีทฟู้ดส์สารพัดแบรนด์ที่เป็นจุดแข็งที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศมารวมเป็นตลาดขนาดใหญ่ ฉีกหนีภาพความหรูหราจากดิเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์ มาเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ แน่นอนว่าราคาและหน้าตาอาหารยังเน้นไปที่ตลาดระดับกลางถึงบน แต่เสิร์ฟด้วยมุมมองใหม่ที่ใส่เสื้อยืด รองเท้าแตะ เข้ามากินได้อย่างไม่ขัดเขิน ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและกลุ่มคนไทยที่อาศัยในย่านสุขุมวิทที่ออกจากบ้านเพื่อ ‘หาอะไรกิน’ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตรองมากนัก

เอ็มสเฟียร์

ยังไม่นับรวมกลยุทธ์ดึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ IKEA มาสร้างจุดหมายปลายทางใหม่ใจกลางเมืองสำหรับกลุ่มคนเมืองและชาวต่างชาติที่มาอาศัยในประเทศไทย ถือเป็น ‘จุดดัก’ ที่ร้ายกาจมาก เพราะทำให้คนที่ต้องการซื้อสินค้า IKEA กลุ่มที่ไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจนานนักหยุดแวะที่เอ็มสเฟียร์แทนที่จะไปไกลถึงเมกะบางนา แวะหาอะไรกินที่ชั้นล่างจนอิ่มแล้วค่อยขึ้นไปเดินเล่นดูเฟอร์นิเจอร์

นี่คือความกันเองแบบกำลังซื้อสูงโดยแท้

เมื่อเทียบแผนการลงทุนสำคัญของเครือค้าปลีกใหญ่ แน่นอนว่าอภิมหาโปรเจ็กต์ฝั่งเซ็นทรัลยังเป็น ‘ดุสิต เซ็นทรัลปาร์ค’ หัวมุมถนนสีลม ด้วยเงินลงทุนกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่เดอะมอลล์ตั้งความหวังไว้กับ ‘แบงค็อก มอลล์’ จุดยุทธศาสตร์ที่สี่แยกบางนา ด้วยเงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะเปิดบริการได้

dusitcentralpark 

เซ็นทรัลพัฒนาหรือ CPN เพิ่งจะประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคมว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาทในช่วงปี 2567-2571 เพื่อขยายสาขาใหม่และปรับปรุงสาขาเดิมให้ดีขึ้น ซึ่งปีที่แล้ว CPN มีรายได้ถึงเกือบ 4.7 หมื่นล้านบาท เติบโตถึง 26% และปี 2567 นี้มีแผนจะเปิดบริการห้างใหม่อีก 13 แห่งทั่วประเทศ และที่น่าจับตาคือการปรับปรุงสาขากลยุทธ์ที่ถือเป็น ‘จุดดัก’สำคัญในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑลอย่างสาขาแจ้งวัฒนะ บางนา หรือรัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองขยายศักยภาพสูงทั้งสิ้น

01

เมืองท่องเทียวและอุตสาหกรรมอย่างจังหวัดชลบุรีนั้น เซ็นทรัลทำได้โดดเด่นกว่าเดอะมอลล์ ด้วยจำนวนสาขาครอบคลุมทั้งเซ็นทรัลพัทยาที่กำลังปรับปรุง เซ็นทรัลชลบุรี เซ็นทรัลมาริน่า เซ็นทรัลศรีราชาสำหรับนักท่องเที่ยว คนทำงานกำลังซื้อดีรวมทั้งกลุ่มครอบครัว โรบินสันศรีราชาในพื้นที่ห้างแปซิฟิคปาร์คที่จับกลุ่มประชาชนทั่วไป รวมทั้งโรบินสันชลบุรีและโรบินสันบ่อวินด้วย

ส่วนจุดหมายปลายทางระดับโลกอย่างภูเก็ตนั้น เซ็นทรัลก็ทำตลาดอย่างเข้มเข้นเช่นกัน แม้จะเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด มีหลายกลุ่มทุนเข้าไปชิงเค้กรายได้ก้อนใหญ่ในพื้นที่ จึงยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าเซ็นทรัลเอาชนะในพื้นที่ภูเก็ตได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อกางแผนที่ออกมาดู จะเห็นว่าทั้งเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ มีกลยุทธ์และวิธีคิดที่แตกต่างกันชัดเจน มีตลาดและลูกค้าประจำของตนเอง แต่จุดวัดกำลังสำคัญที่ทั้งสององค์กรต้องการอย่างนักท่องเที่ยวจะยังเป็นศึกใหญ่ให้ต่อสู้กันอย่างเข้มข้นต่อไปยิ่งมอง ยิ่งน่าสนุก

ห้างสรรพสินค้าจะยังเป็นทั้งจดุหมายปลายทาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ของกิจกรรมครอบครัวและการใช้ชีวิตของคนไทยไปอีกนานเท่านานในวันที่อากาศร้อนจัดเกินกว่าจะมีความสุขนอกอาคารได้แบบนี้ แน่นอนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกบ้านเราก็เก่งกาจระดับโลกด้วย เชื่อว่าใครหลายคนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็คงจะคิดแบบเดียวกับผู้เขียน....เดินห้างที่ไหนก็ไม่สนุกเท่ากับเดินห้างในไทย

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
ศึกชิงนักท่องเที่ยวที่นับวันยิ่งดุเดือดของ เซ็นทรัล VS เดอะมอลล์