ธุรกิจการตลาด

90% บริษัทไทย ยอมจ้างเด็กจบใหม่ที่ใช้ AI เป็น แทนคนรุ่นเก่าที่มีทักษะ

20 มิ.ย. 67
90% บริษัทไทย ยอมจ้างเด็กจบใหม่ที่ใช้ AI เป็น แทนคนรุ่นเก่าที่มีทักษะ
ไฮไลท์ Highlight
  • ‘Bring Your Own AI’ พนักงานนำ AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม
  • ผู้ใช้งาน AI ระดับ Power Users มีเพิ่มขึ้นมาก และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  • AI กลายเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญสำหรับคนทำงาน สร้างมาตรฐานใหม่และทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

ปี 2024 ถือเป็นปีของ AI อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะหันไปไหนก็พบเจอ AI เต็มไปหมด โดยเฉพาะชีวิตในการทำงานที่พนักงานทั่วโลกหันมาใช้ Generative AI กันมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยให้การทำงานสำเร็จเสร็จสิ้นรวดเร็วขึ้น และช่วยลดภาระของพนักงานที่ต้องทำงานหนักมาก สะท้อนจากผลสำรวจที่ พบว่า คนทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับการทำงานภายใต้แรงกดดัน ดังนี้ :

- 68% ของคนทำงานต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ซึ่ง 46% รู้สึกหมดไฟ

- 85% ของอีเมลถูกอ่านภายใน 15 วินาที และบุคคลทั่วไปต้องอ่านอีเมล 4 ฉบับต่อทุกๆ อีเมลที่ส่ง

- 60% ของผู้คนใช้เวลาไปกับอีเมล แชท และการประชุม

Microsoft ยังเผยว่า พนักงานทั่วโลกใช้ Generative AI ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อย ได้นำเอาทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับ AI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่ของตนมากขึ้น ส่วนทางด้านผู้บริหารก็ให้ความสำคัญกับ AI เช่นกัน และมักเรื่องผู้สมัครที่มีทักษะด้าน AI

ล่าสุด Microsoft ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn เผยผลงานวิจัย ‘Work Trend Index 2024’ เปิดข้อมูลเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลก ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในที่ทำงาน จากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย กล่าวว่า Generative AI ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงานมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งพนักงานนำ AI มาใช้โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน

สรุป 3 เทรนด์ทีสำคัญจากผลสำรวจ

Work Trend Index 2024 ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน 3 ประเด็นที่มีความสำคัญต่อทั้งผู้บริหารและพนักงานในประเทศไทย และสะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปีนี้

  1. ‘Bring Your Own AI’ เมื่อพนักงานนำ AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม
  2. ผู้ใช้งาน AI ระดับ Power Users มีเพิ่มขึ้นมาก และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  3. AI กลายเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญสำหรับคนทำงาน สร้างมาตรฐานใหม่และทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

โดยผลสำรวจจาก Work Trend Index 2024 พบว่า พนักงานไทยเริ่มนำ AI มาใช้งานมากขึ้น แต่องค์กรส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยมีแนวโน้มในการนำ AI มาใช้งานจริง ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ผลสำรวจเป็นดังนี้:

- พนักงานไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75%

- จากกลุ่มผู้ใช้งาน AI กว่า 81% นำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเทรนด์ ‘Bring Your Own AI’ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 78%

- ผู้บริหารในไทยกว่า 91% เชื่อว่าบริษัทของตนต้องนำ AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79%

- ผู้บริหารในไทยกว่า 64% มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60%

- พนักงานไทยกว่า 86% เริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ ‘AI Power Users’ หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูงทั่วโลกที่ 85%

- AI Power Users ในไทยเพียง 45% มีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 68%

- AI Power Users ในไทยเพียง 28% มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40%

- AI Power Users ในไทยเพียง 22% ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%

- ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 66%

- ผู้บริหารไทยกว่า 90% จ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI มากกว่าพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ไม่มีทักษะ AI สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%

องค์กรให้ความสำคัญกับ AI แต่ยังขาดนโยบายที่ชัดเจน

สาเหตุที่พนักงานในไทยส่วนใหญ่นำ AI มาใช้งานเองโดยไม่รอมาตรการของบริษัท อาจเป็นเพราะภาระงานที่ต้องแบกรับ โดยเฉพาะการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ซึ่ง AI สามารถช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น

โดยเทรนด์ Bring Your Own AI เกิดขึ้นกับทุกช่วงอายุทั่วโลก โดยกลุ่มพนักงาน Gen Z มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 85% ตามด้วย กลุ่ม Gen Y 78% กลุ่ม Gen X 76% และกลุ่ม Baby Boomer ที่ 73% อย่างไรก็ตาม เทรนด์ Bring Your Own AI อาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล

ถึงแม้หลายองค์กรจะยังไม่มีนโยบาย AI ที่แข็งแรงและพร้อม แต่กลุ่มพนักงานที่เป็น ‘AI Power Users’ หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมักจะนำ AI มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อเดือน

สำหรับทิศทางและแนวโน้มการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนไป เห็นได้จากข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน พบว่า :

- ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จำนวนของสมาชิกทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่า

- ในช่วง 2 ที่ผ่านมา ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%

- ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่า เป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ในขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟฟิกดีไซน์ และการตลาด

ทักษะที่สำคัญต่อการทำงานในยุค AI

ถึงแม้ Generative AI จะเปลี่ยนแปลงเนื้องานที่คนงานทำบางส่วน รวมถึงกระทบต่อทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่ความสำเร็จ แต่ความสำคัญของทักษะด้านบุคคลก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ทักษะที่ใช้ในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปมากถึง 68% จากการพัฒนาของ AI และ Generative AI สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ขณะที่ LinkedIn เผยข้อมูลว่า คนทำงานในประเทศไทยรับรู้ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงนี้ เห็นได้จากทักษะที่ผู้ใช้งาน LinkedIn ในประเทศไทย เพิ่มเติมลงในโปรไฟล์ของตนเองมากที่สุด 5 ทักษะ ได้แก่:

- การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

- การบริหารความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management)

- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

- การใช้งาน AI (Artificial Intelligence)

- การวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analysis)

อย่างไรก็ตาม ความแพร่หลายของทักษะด้าน AI ในประเทศไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่แนวโน้มความสนใจกำลังเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ ซึ่งองค์กรไทยส่วนใหญ่ยังไม่กล้านำ AI มาใช้งานจริงจังในองค์กร ถึงแม้มีความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นเพราะว่า ยังมีความกังวลถึงผลลัพธ์และผลประโยชน์ที่จะได้จาก AI ในเนื้องาน และกังวลถึงเม็ดเงินที่ต้องลงทุนไป ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ วัฒนธรรมขององค์กรที่มีการมอง AI ในหลายมิติ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้ยังไม่มีการตกลงอย่างเป็นทางการ

นายธนวัฒน์ เสริมว่า องค์กรต้องเริ่มนำ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน ให้ AI ทำหน้าที่เป็น ‘หนึ่งในผู้ช่วย’ ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงได้โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารต้องมีแผนการเสริมเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากร และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของบริษัทมีการรั่วไหล รวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงาน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT