พานาโซนิค (Panasonic) เตรียมหยุดการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ในปลายปี 2027 หลังจากที่ผลิตมาอย่างยาวนานกว่าเจ็ดทศวรรษ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 ที่ห้ามการผลิต ส่งออก และนำเข้าหลอดฟลูออเรสเซนต์ประเภททั่วไปภายในปลายปี 2027 เนื่องจากมีสารปรอท
หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือที่รู้จักกันว่า หลอดโคมไฟ ใช้ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นไอปรอทในก๊าซอาร์กอนหรือนีออนให้ก่อตัวเป็นพลาสมาและปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตคลื่นสั้น หลังจากที่รังสีอัลตราไวโอเลตถูกดูดซับโดยฟอสเฟอร์แล้ว ฟอสเฟอร์จะปล่อยแสงที่มองเห็นได้เพื่อให้ได้แสงสว่าง
นับตั้งแต่การผลิตในปี 1951 พานาโซนิคยังคงเป็นเพียงหนึ่งในสามบริษัทในญี่ปุ่น ที่ผลิตหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโตชิบา และ HotaluX ซึ่งพานาโซนิคเป็นแบรนด์แรกที่ตัดสินใจประกาศวันที่สิ้นสุดในการผลิตที่เป็นรูปธรรม
โดยหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่ถูกผลิตก่อนวันที่สิ้นสุดตามข้อตกลง ยังคงสามารถจำหน่ายได้ในปี 2028 และต่อๆ ไป พานาโซนิคจึงวางแผนที่จะผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ต่อไปจนถึงเวลาที่กำหนด เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ในญี่ปุ่นยังคงมีอยู่
ตามสถิติสมาคมอุตสาหกรรมแสงสว่างของญี่ปุ่น (JLMA) ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน รายงานว่า ประมาณ 60.3% ของหลอดไฟในญี่ปุ่นเป็นหลอดไดโอดเปล่งแสง (LED) ในขณะที่เกือบ 40% ยังคงเป็นแบบหลอดฟลูออเรสเซนต์
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนแสงสว่างที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ให้ใช้หลอด LED ภายในปี 2030 และคาดว่าอาจช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากแสงสว่างลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง เทียบจากอัตราในปี 2013 ตามการประมาณการ JLMA
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในการเปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ด้วยเทคโนโลยีแสงสว่างที่ใหม่กว่า เช่น LED เพราะผู้คนหรือองค์กรส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์จนกว่าหลอดจะหยุดทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีอายุการใช้งานสองถึงสี่ปี ทำให้การนำเทคโนโลยีแสงสว่างใหม่ๆ มาใช้จึงมีความล่าช้า
นอกจากนี้ การเปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ด้วยไฟประเภทอื่น เช่น LED ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป มักต้องมีการทำงานที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้กระบวนการนี้ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อบางคนได้
ทั้งนี้ พานาโซนิคจะเพิ่มการผลิตหลอดไฟ LED แทน แม้จะมีราคาแพงกว่า ซึ่งเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อแบบนี้