ธุรกิจการตลาด

ชวนสังคมกระตุกต่อมเอ๊ะ ผ่านสมุดหน้าโจร ด้วยมิจฉาชีพกว่า 1.5 ล้านเบอร์

29 ต.ค. 67
ชวนสังคมกระตุกต่อมเอ๊ะ ผ่านสมุดหน้าโจร ด้วยมิจฉาชีพกว่า 1.5 ล้านเบอร์

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงง่าย และกลโกงมีความซับซ้อนขึ้น ‘การหลอกลวงออนไลน์’ กลายเป็นปัญหาที่ขยายตัวในระดับประเทศ ส่งผลกระทบทั้งต่อสังคมและคนไทยในวงกว้าง โดยคนไทยหลายคน กลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ใช้วิธีการหลากหลายเพื่อหลอกลวง 

ชวนสังคมกระตุกต่อมเอ๊ะ ผ่าน 'สมุดหน้าโจร' ที่รวมมิจฉาชีพกว่า 1.5 ล้านเบอร์โทร

ไม่ว่าจะเป็นใคร? หรืออยู่ที่ใด? ทุกคนมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายได้เหมือนกัน แม้บางคนอาจมั่นใจว่า ตนเข้าใจกลลวงดีแล้ว แต่กลโกงรูปแบบใหม่ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่ตนเองเท่านั้นที่เสี่ยง คนรอบตัวหรือคนที่รักก็อาจเผลอตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ เช่นกัน

หากปล่อยไปโดยไม่ทำอะไรเลย แน่นอนว่าจำนวนเหยื่อจะเพิ่มมากขึ้น คดีรูปแบบต่างๆ รวมทั้งยอดความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้น ตามมาทั้งในเชิงมูลค่าทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เหมือนที่ มนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด โกโกลุก ประเทศไทย มองว่า “แนวโน้มของการหลอกลวงมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยี AI ในการทำกลโกงให้แนบเนียนขึ้น” 

การหลอกลวงได้พัฒนาไปถึงขั้นใช้ deepfake เพื่อเลียนแบบเสียงหรือใบหน้าของคนรู้จัก อีกทั้งการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่มิจฉาชีพใช้สร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้คนยิ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมากยิ่งขึ้น

คนไทยกับการถูกลองที่กระทบเศรษฐกิจประเทศ

จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างเดือนมีนาคม ปี 2565 ถึง เดือนกรกฎาคม ปี 2567 พบว่า มีคดีอาชญากรรมออนไลน์มากถึง 612,603 คดี และสร้างเสียหายสูงถึง 69,186 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง จำนวนของคดีและมูลค่าความเสียหายมีมากกว่านี้ แต่ตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกข้อมูลจากผู้เสียหายที่เข้ามาแจ้งความ

ส่วนใหญ่ผู้เสียหายอยู่ใน ‘กลุ่มเพศหญิง’ ถึง 64% โดยแบ่งเป็นตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มอายุระหว่าง 30-44 ปี ได้รับความเสียหายสูงถึง 41.45% รองลงมา คือ กลุ่มช่วงอายุระหว่าง 22-29 ปี ถึง 25.27% 

นอกจากนี้ ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’ ที่มีเงินเก็บเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินออม เงินเกษียณ หรือเงินบำนาญ มักตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ เพราะความไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน หรือแม้กระทั่ง ‘กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา’ ที่มักโดนมิจฉาชีพหลอกลวง หรือข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดรูปแบบต่างๆ

โดยคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่:

  1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการไม่เป็นขบวนการ (296,042 เรื่อง | ความเสียหาย 4,311,005,056 บาท)
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน (82,162 เรื่อง | ความเสียหาย 10,177,308,336 ล้านบาท)
  3. หลอกให้กู้เงิน (63,878 เรื่อง | ความเสียหาย 3,102,057,626 ล้านบาท)
  4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (45,787 เรื่อง | ความเสียหาย 25,315,469,500 ล้านบาท)
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) (42,404 เรื่อง | ความเสียหาย 9,391,750,191 ล้านบาท)

วิธีเข้าถึงกลุ่มที่ไม่ใช้แอปป้องกันการหลอกลวง

ท่ามกลางการถูกหลอกบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่สามารถรับมือได้ เมื่อเจอกับเบอร์แปลกใหม่ เนื่องจากพวกเขาทราบว่า การรับเบอร์ของคนแปลกหน้า หรือการติดต่อพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักมีความเสี่ยงสูง รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนบุคคลอย่าง ‘Whoscall’ ได้ 

แต่ผู้สูงอายุในชนบทหรือต่างจังหวัด ยังคงรับโทรศัพท์จากเบอร์แปลกๆ โดยไม่ทันระแวงว่า ปลายสายอาจเป็น ‘มิจฉาชีพ’ หลายครั้งผู้สูงอายุเหล่านี้อาจเผลอรับสายจากคนที่ปลอมตัวมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ปลอมเป็นคนรู้จัก ใช้เสียงและภาพปลอมในการแชทผ่าน LINE ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้หลงเชื่อไปได้ง่าย

นอกจากนี้ คอนเทนต์บนโลกโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ที่ออกมาแชร์วิธีรับมือกับแก๊งโจร และการรับรู้ถึง Whoscall อาจยังไม่ได้เข้าไปมีบทบาทกับคนกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนต่างจังหวัด หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ไม่ค่อยใช้ โซเชียลมีเดีย ทาง Whoscall จึงเสนอไอเดียที่ visualize ให้เห็นถึงความสำคัญในการดาวน์โหลดเครื่องมือป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนบุคคลติดตัวไว้

‘Whoscall’ จึงร่วมมือกับ ‘VML Thailand’ ในการนำเสนอมุมมองใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภคผ่านแคมเปญ ‘สมุดหน้าโจร (Scammer Pages)’ ภายใต้คอยเซปท์ #ถ้าจำไม่หมดต้องกดโหลดWhoscall เพื่อกระตุ้นให้สังคมเล็งเห็นถึงภัยอันตรายใกล้ตัวจากมิจฉาชีพ ที่แอบแฝงผ่านช่องทางดิจิทัล โทรศัพท์ และข้อความ SMS 

นี่เป็นครั้งแรกของการทำ ‘Data Visualization’ เบอร์มิจฉาชีพมากกว่า 1.5 ล้านเบอร์ รวมไว้ในรูปแบบของสมุดหน้าเหลือง 5 เล่มรวมกัน เพื่อให้สังคมกระตุกต่อมเอ๊ะ ให้ผู้คนในสังคมหยุดเพื่อพิจารณา ทำความเข้าใจ และระมัดระวังต่อภัยหลอกลวงมากขึ้น หรือถ้าจำไม่หมด สามารถโหลด Whoscall เป็นเกราะป้องกันภัยให้คนไทยรู้กลลวงมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที

ภาคย์ วรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ VML Thailand กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่า คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกทางโทรศัพท์มากกว่า 19 ล้านครั้ง มาตั้งต้นเป็นโจทย์ และแปลงข้อมูลเป็นงานสร้างสรรค์เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเริ่มต้นจากอินไซต์ที่คนไทยส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่า ‘เราสามารถรู้ทันและรับมือกับมิจฉาชีพได้’

การแบกสมุดหน้าโจรในชีวิตประจำวันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสมุดมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักที่หนักมาก และจากความชินของคนไทยกับ ‘สมุดหน้าเหลือง’ ในอดีต ‘ภาคย์’ จึงมองว่า แคมเปญสมุดหน้าโจรจึงจะตอบโจทย์ในการเข้าถึงกลุ่มตลาดแมสได้ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ของภัยออนไลน์ และการใช้ Whoscall

ถึงแม้ Whoscall จะมีฐานข้อมูลมากกว่า 2,600 ล้านเบอร์โทรทั่วโลก แต่การจัดพิมพ์ทั้ง 2,600 ล้านเบอร์เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริง แคมเปญสมุดหน้าโจรจึงมี 1.5 ล้านเบอร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่พอดี สำหรับการทำเป็นรูปเล่ม จากการใช้ AI เพื่อเรียงหาข้อมูล จัดดาต้าตามกลุ่มๆ ส่วนเนื้อหาที่เป็นโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองแบบเดิม ได้จัดทำเป็นเกร็ดสาระการให้ความรู้แทน

ส่วนแผนการสื่อสารแคมเปญสมุดหน้าโจร ‘มนประภา’ เผยว่า นอกจากการใช้พื้นที่สื่อ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่น บริษัทจะมีการโรดโชว์ไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ความรู้ เตือนภัยมิจฉาชีพออนไลน์ ภายในช่วงปลายปีนี้ และปีหน้า ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการวางแผนอยู่

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT