เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อย กับอีกหนึ่งดีลที่ทั้งโลกจับตามอง “อีลอน มัสก์” อัครมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ได้เข้าซื้อกิจการของ “ทวิตเตอร์” แพลตฟอร์มโซเชียลที่มีผู้ใช้งานเกือบ 400 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้ทรงอิทธิพลของทุกวงการ ด้วยวงเงินทั้งสิ้น 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) สำเร็จแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ มัสก์ได้ประกาศข้อเสนอควบรวมกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeoer) กับทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่ล่าสุด บอร์ดของทวิตเตอร์ได้ออกแถลงการณ์ตกลงขายบริษัทให้มัสก์ ที่มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว แม้ดีลจะยังไม่จบ 100% แต่ก็คาดว่าขั้นตอนที่เหลือต่อจากนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ข่าวการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ส่งผลให้หุ้นของทวิตพุ่งขึ้น 6% แตะ 51.90 ดอลลาร์/หุ้น หรือเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 40% จากระดับก่อนหน้าที่มัสก์จะประกาศว่าได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทแล้ว 9%
เหรียญหมา Doge Coin พุ่งทะยาน
ที่สำคัญ เหรียญลูกรักของมัสก์อย่าง “Doge coin” ที่มัสก์เคยกล่าวไว้ว่าอาจจะเปิดทางให้ใช้ดอจคอยน์ซื้อรถยนต์ของเทสลาได้นั้น ก็เคลื่อนไหวทันทีที่มีข่าวนี้เช่นกัน โดย CNBC รายงานว่าราคาของเหรียญ Doge coin พุ่งขึ้นถึงเกือบ 30% ก่อนที่ช่วงเกือบเที่ยง (26 เม.ย. 65) ราคาจะย่อตัวลงมาเล็กน้อย โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 0.156255 ต่อดอลลาร์ หรือบวกไป 21%
เต็ง ฮง ผู้บริหารบริษัทซาโตริ รีเสิร์ช ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีในฮ่องกง กล่าวว่า มัสก์ ได้ให้การสนับสนุนดอจคอยน์อย่างเปิดเผย และมักจะพูดถึงเหรียญดังกล่าวในเชิงบวกมาโดยตลอด ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มัสก์อาจจะใช้ดอจคอยน์ในระบบการชำระเงิน และจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาดอจคอยน์พุ่งขึ้นอย่างมาก
ซีอีโอใหม่ Twitter เรียกประชุมพนักงานทันที
พารัก อกราวัล (Parag Agrawal) ซีอีโอหมาดๆ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานของของ Twitter จัดการประชุมพนักงานทั้งหมด หลังจากบริษัทมีมติขายกิจการให้มัสก์ ซึ่งสร้างคำถามตามมาทั้งจากคนภายในและนอกองค์กรว่า "อนาคตของทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้?"
ซีอีโอทวิตเตอร์ บอกว่า ยังไม่เห็นแผน "ปลดพนักงาน" ในตอนนี้ แต่ยอมรับว่าจากนี้อะไรก็ไม่แน่นอนอีกต่อไป หลังจากดีลซื้อกิจการนี้เสร็จสิ้น รวมทั้งทิศทางการบริหารงาน และแนวทางดูแลจัดการแพลตฟอร์ม คาดว่าดีลนี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้ Parag Agrawal เพิ่งรับตำแหน่งซีอีโอ Twitter ได้เพียง 5 เดือน หลังจากแจ๊ค ดอร์ซีย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประกาศลาออก ซึ่งมีข้อมูลไม่เป็นทางการว่าข้อตกลงหนึ่งคือ เขาจะได้รับเงินชดเชย 42 ล้านดอลลาร์ หากต้องออกจากตำแหน่งภายใน 12 เดือนที่รับตำแหน่ง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัท
4 ทิศทางใหม่ของทวิตเตอร์ที่อาจ "เปลี่ยนไป"
หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้วิเคราะห์ 4 ทิศทางใหม่ของทวิตเตอร์ที่อาจเปลี่ยนไปภายใต้บังเหียนใหม่ของมัสก์ ดังนี้
1. Free speech และการควบคุมเนื้อหา
- มัสก์ประกาศความตั้งใจจะนำทวิตเตอร์ออกนอกตลาดหุ้น และทำให้แพล็ตฟอร์มนี้สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เพราะเสรีภาพในการแสดงความเห็นคือพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่แท้จริง
2. ทรัมป์อาจกลับมา?
- แม้ว่าจะไม่มีการพูดถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง แต่การพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง ก็หมายถึงต้องไม่ปิดกั้นใครด้วย ซึ่งทุกฝ่ายเพ่งโฟกัสไปที่ทรัมป์ ที่เคยเป็นขาประจำของทวิตเตอร์มาตลอดก่อนที่จะถูกแบน แต่ล่าสุดเจ้าตัวส่งสัญญาณว่า จะไม่กลับไปใช้ทวิตเตอร์อีกแล้ว
3. อัลกอริทึม
- มัสก์ เคยพูดไว้ล่าสุดบนเวที TED ว่า มีแผนจะใช้อัลกอริทึมแบบโอเพนซอส ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เห็นโค้ดรายละเอียดของแต่ละโพสต์บนไทม์ไลน์
4. ความสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม
- มัสก์เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์บนแพลตฟอร์ม เพราะหลายคนแม้จะมีผู้ติดตามมาก แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวเท่าที่ควร จนมัสก์ถึงกับเคยทวีตว่า “แอ็กเคานต์ส่วนใหญ่มักทวีตและโพสต์เนื้อหาน้อยมาก Twitter กำลังจะตายเหรอ?”
เรื่องนี้เองยังทำให้มัสก์มีแผนการหนึ่งที่ตั้งเป้าจะทำหลังซื้อทวิตเตอร์ นั่นก็คือ การกำจัดสแปมและบอต