'ซีพี ออลล์' ประเมินไตรมาส 2/65 ของขายดีทุกแบรนด์ทั้ง 7-Eleven, แม็คโคร, โลตัส รับเปิดประเทศมีทั้งโรงเรียนทั่วประเทศเปิดแล้ว แถม ผับ บาร์ คาราโอเกะ จ่อเปิดเพิ่มอีก 1 มิ.ย. นี้ หนุนลูกค้าซื้อของเพิ่มอีก
น.ส.จิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าสำนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อแบรนด์ 7-Eleven ในประเทศไทย กล่าวในงาน "Opportunity Day" ประจำงวดไตรมาส 1/2565 ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ประเมินแนวโน้มยอดขายของบริษัทช่วงในไตรมาส 2/65 น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2565 โดยมีปัจจัยบวกจากการเปิดสถานศึกษา หรือโรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา
และการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ในวันที่ 1 มิ.ย. ปีนี้ สนับสนุนให้จำนวนผู้ใช้บริการในร้าน 7-Eleven, แม็คโคร (Makro), โลตัส (Lotus’s) ฟื้นตัวกลับมามากขึ้น อีกทั้งในไตรมาสนี้ โลตัส ยังสามารถกลับมาจัดแคมเปญ Back to School เพื่อกระตุ้นยอดขายได้อีกด้วย
ผู้บริหาร CPALL ให้ข้อมูลในงาน Opportunity Day ประจำงวดไตรมาส 1/2565
ขณะที่ในปีนี้บริษัทฯ ยังคงประเมินยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) จะเติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การเปิดให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียน การเปิดสถานบันเทิงต่างๆ และการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งมองว่าจะช่วยหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีมากขึ้น
“ในแต่ละปีการเติบโตของ SSSG จะยึดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้ก็มีปัจจัยบวกจากเงินเฟ้อ โดยมองเป็นอานิสงส์บวกต่อธุรกิจค้าปลีก ที่เป็นโอกาสในการสร้างยอดขายให้สูงขึ้น ประกอบกับด้วยมาตรการของภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ และฐานที่ต่ำในปีก่อนจากการควบคุมโควิด-19 ก็จะเป็นปัจจัยหนุนยอดขายปีนี้ด้วย” น.ส.จิราพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น มองเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้มีการปรับราคาขายสินค้าขึ้นตามราคาต้นทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขาย แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลเชิงลบ จากต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ ต้นทุนดังกล่าวอยู่ราว 1.5-2% ของต้นทุนรวม และยังมีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย จากการปรับค่า Ft ขึ้น
อย่างไรก็ตามก็คาดหวังว่าจากการเปิดประเทศ และการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะหนุนต่อจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งน่าจะช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยที่เป็นต้นทุนคงที่ลดลง และชดเชยต้นทุนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนผันแปร
ขณะที่บริษัทฯ มีการพัฒนาปรับปรุงระบบหลังร้าน ในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า รวมถึงยังมีการเริ่มทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า หรือติดตั้งโซลาร์รูฟ ท็อปที่ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
สำหรับกลยุทธ์การทำการตลาดของร้านสะดวกซื้อฯ ปีนี้ ยังคงมองหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น อาหารพร้อมทาน โดยที่ผ่านมาทาง 7-Eleven ก็มีการนำเสนอสินค้าในกลุ่มอิ่มคุ้ม ซึ่งเหมาะกับเงินในกระเป๋าของลูกค้า และเพียงพอต่อหนึ่งอิ่มของลูกค้า และนอกจากอาหารพร้อมทานแล้ว ยังขยายไปสู่กลุ่มที่เป็นเบเกอรี่ เครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตามปีนี้ยังเป็นการนำเสนอสินค้าต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 เช่น อิ่มคุ้ม การขายแพ็คใหญ่ เนื่องด้วยมองว่าลูกค้ายังคงต้องการ และสะดวก
ในส่วนของโลตัส คาดว่าน่าจะสร้างผลงานที่ดีในทุกๆ ช่วง แม้ปีนี้อาจยังต้องใช้เวลาเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ แต่เชื่อว่าปี 66 จะกลับมาสร้างผลกำไรและผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่องต่อไป โดยโลตัสยังมีการลงทุนและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Online to Offline
สำหรับการลงทุนในปีนี้วางงบลงทุนไว้ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายสาขา 7-Eleven อีก 700 สาขา ราว 3,800-4,000 ล้านบาท, การปรับปรุงสาขาเดิม ราว 2,400-2,500 ล้านบาท, การลงทุนในโครงการใหม่ๆ และศูนย์กระจายสินค้า ราว 4,000-4,100 ล้านบาท, การลงทุนด้านไอที 1,300-1,400 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.เซเว่น อีเลฟเว่น ขยายสาขาในกัมพูชา ล่าสุด เปิดสาขาที่ 7 นอกกรุงพนมเปญ สินค้าแน่นกว่า 2 พันรายการ
2.CPF ลุยธุรกิจ “กัญชง-กัญชา” ไม่หวั่นโรค ASF ระบาดหมู เหตุมีธุรกิจกระจายทั่วโลก
3.ซีอีโอ CPF ขายหุ้นทิ้งเกลี้ยงพอร์ต รับเงิน 12.5 ล้านบาท
4.CPF ลุยเนื้อพันธุ์ใหม่ "ไฮบริด" ร่วมมือสตาร์ทอัพอิสราเอล เตรียมขายทั่วโลก