ไม่ได้พลิกลิ้น แค่ขยายความให้ชัดเจน! อีลอน มัสก์ เผยที่เคยประกาศเลิกจ้างแรงงานเทสลา 10% นั้น จะนับเฉพาะลูกจ้างรายเดือน และบริษัทมีแผนจะจ้างลูกจ้างรายชั่วโมงเพิ่ม เมื่อหักกลบลบกันจะเหลือแค่ 3.5% เท่านั้น หลังถูกอดีตลูกจ้างฟ้องข้อหาละเมิดกฎหมายแรงงานสหรัฐ
อีลอน มัสก์ แถลงผ่านงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขยายความสิ่งที่เขาเคยประกาศว่าจะเลย์ออฟพนักงาน Tesla ลงถึง 10% นั้น แท้จริงหมายถึง ‘พนักงานประจำประเภทรายเดือน’ ซึ่งมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
โดยบริษัทมีแผนจะปรับลดสัดส่วนพนักงานรายเดือนลงภายในระยะเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีแผนว่าจ้าง ‘พนักงานรายชั่วโมง’ เพิ่มขึ้นมาทดแทน ทำให้เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว Tesla จะเลิกจ้างเพียง 3.5% เท่านั้น
การประกาศความชัดเจนครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่เทสลาถูกอดีตพนักงาน 2 ราย ยื่นฟ้องบริษัท ต่อศาลในรัฐเท็กซัส ข้อหาเกี่ยวกับการตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานแบบฟ้าผ่าโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยอดีตพนักงานทั้ง 2 คนอ้างว่า พวกเขาและอดีตพนักงานรวมอีกกว่า 500 ชีวิต ถูกสั่งปลดแบบฟ้าผ่า จากโรงงานเทสลาในรัฐเนวาดา ในเดือนมิถุนายน
ทั้งคู่อ้างว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายการจ้างงาน Worker Adjustment and Retraining Notification Act ที่ระบุว่านายจ้างจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน ในกรณีที่จะเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากกว่า 50 คน หรือจะปิดโรงงาน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามัสก์จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำฟ้องร้องดังกล่าวเท่าไรนัก
“นี่เป็นคำฟ้องร้องเล็กๆ จากผลกระทบเล็กๆ … แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเทสลาจะขึ้นหน้า 1 เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ อย่างเช่นจักรยานล้ม หรืออะไรที่ใหญ่โตกว่านั้น”
ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ มีประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานงานในบริษัทมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ในยุคที่บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายบริษัท ได้ออกกฎผ่อนปรนให้พนักงานสามารถทำงานแบบไฮบริด สามารถเลือกสลับทำงานที่บ้านกับที่ออฟฟิศได้ แต่ มัสก์ กลับบอกให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการลาออกจากบริษัท
โดยมัสก์ยังได้เหน็บพนักงานที่อยากทำงานจากที่บ้านว่า “ควรไปแกล้งทำงานที่อื่น”
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เทสลา ก็เคยเผชิญข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติต่อแรกงานผิวดำอย่างไม่เท่าเทียม โดยกรมการจัดหางานยุติธรรมและการเคหะแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ฟ้องร้องบริษัท ในข้อหาเกี่ยวกับการคุกคามและเหยียดเชื้อชาติ