หลังจากที่ Shopee ประกาศผ่านแอปพลิเคชันว่า จะเริ่มทำการปิดช่องทาง “การชำระผ่านบัญชีธนาคาร” เป็นการถาวร ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป ทำเอาหลายคนสงสัยว่า ตกลง Shopee จะไม่รับเงินผ่านธนาคารเลยหรือไม่ และจะยังสามารถตัดเงินอัตโนมัติผ่านบัญชีธนาคารได้หรือเปล่า ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้ฟังแล้วที่นี่
ปิด ‘ชำระผ่านธนาคาร’ ไม่ใช่ ‘ยกเลิกผูกบัญชีธนาคาร’
ก่อนหน้านี้ ช่องทางการชำระเงินหลังสั่งสินค้าผ่าน Shopee ด้วยบัญชีธนาคาร จะมี 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ
- จ่ายผ่านวอลเล็ทของ Shopee Pay และเลือกผูกบัญชีธนาคารกับ Shopee Pay ให้สามารถตัดเงินจากบัญชีธนาคารของเราได้โดยตรง
- เลือกจ่ายผ่านแอป Mobile Banking ของธนาคารต่างๆ โดยเมื่อเลือกตัวนี้แล้ว แอป Shopee จะพาเราสลับไปยังแอปพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคาร เพื่อกดโอนเงินไปยังบัญชีของ Shopee
- เลือกจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร คือการที่ Shopee สร้างธุรกรรม แล้วส่งรหัสอ้างอิงให้กับผู้ใช้ สามารถเลือกเดินทางไปจ่ายที่หน้าตู้เอทีเอ็ม หรือจ่ายในแอป Mobile Banking ลักษณะคล้ายกับการจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟนั่นเอง
ซึ่งตัวเลือกที่ Shopee ประกาศยกเลิกไปก็คือช่องทางที่ 3 โดยผู้ใช้ จะสามารถชำระเงินผ่านทางช่องทางที่ 1 และ 2 ได้ตามปกติ
ปัจจุบัน ช่องทางการชำระเงินใน Shopee มีด้วยกัน 6 วิธี ได้แก่
- Shopee Pay - วอลเล็ทของ Shopee
- เก็บเงินปลายทาง - เก็บเงินสด/เงินโอน จากผู้รับสินค้าปลายทาง
- บัตรเครดิต/บัตรเดบิต - ชำระด้วยบัตรเครดิต / บัตรเดบิต จากผู้ให้บริการรายต่างๆ
- Mobile Banking - โอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคารต่างๆ
- SPayLater - บริการผ่อนจ่ายรายเดือนของ Shopee
- QR พร้อมเพย์ - บริการใหม่ที่ให้ผู้ซื้อโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ทันที
ตัดตัวเลือกเพื่อ ‘คุมต้นทุน’ ไม่ใช่เพื่อ ‘ตัดปัญหา’
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุผู้ใช้งาน Shopee ถูกมิจฉาชีพแฮกบัญชี และทยอยซื้อของผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ที่ผูกไว้ โดยเจ้าของบัญชีไม่ได้รับการแจ้งเตือน หรือรหัส OTP ใดๆ นั้น ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจในแง่ของความปลอดภัยในการผูกบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 เดือนก่อนที่ Shopee จะประกาศปิดการให้บริการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร
แหล่งข่าวจาก Shopee ได้ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่าเหตุการณ์ทั้งสอง ‘ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน’ เนื่องจาก Shopee มีแผนที่จะปิดบริการดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากความไม่เหมาะสมด้านต้นทุน มิได้มีสาเหตุมาจากการถูกแฮกบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ดี ทาง Shopee ก็ได้ระบุว่า กำลัง “ตรวจสอบอย่างเข้มข้น” ถึงสาเหตุของปัญหา เพื่อจะได้ช่วยเหลือลูกค้าต่อไป
สำหรับเหตุการณ์การถูกมิจฉาชีพแฮกบัญชีนั้น เมื่อผู้เสียหายตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบัญชีก็พบว่า มิจฉาชีพได้เข้าถึงบัญชีและเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีไว้ ทำให้ข้อความแจ้งเตือนต่างๆ ไปปรากฏในโทรศัพท์มือถือของตัวมิจฉาชีพเอง และทำให้สามารถทำธุรกรรมได้โดยที่ผู้เสียหายไม่ทันได้เอะใจใดๆ เลย
เตือนมือดีหวังแฮกบัญชีช้อปออนไลน์ ‘ปรับ 1 แสน - จำคุก 5 ปี’
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ได้เตือนประชาชนว่า ถึงเรื่องการการผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้ากับแอป รวมถึงระมัดระวังการกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปปลอม ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5
‘ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน’ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากมีการ ‘นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน’ จะมีความผิดตามพรบ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สำหรับผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหาย ตำรวจไซเบอร์แนะนำให้ตรวจสอบรายการเดินบัญชี และรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย หรือพบเบาะแสการกระทำผิด สามารถติดต่อได้ที่ 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
แบงก์แนะวิธีช้อปออนไลน์ให้ปลอดภัยจากการถูกแฮก
แม้เหตุการณ์ในครั้งล่าสุดนี้ ทางธนาคารเจ้าต่างๆ จะยังไม่ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่ลูกค้า Shopee โดนดูดเงินจากบัญชีในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ที่ผู้ใช้งานถูกโอนเงินออกจากบัญชีที่ผูกกับแอปช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งละไม่กี่สิบบาท แต่รวมแล้วเสียหายหลักหมื่นบาท หลายธนาคารได้ออกมาแนะนำวิธีช้อปออนไลน์ให้ปลอดภัย ดังนี้
- หมั่นตรวจสอบยอดเงินในบัญชี และธุรกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ หากพบสิ่งผิดปกติ ต้องรีบแจ้งธนาคารทันที
- เลือกใช้บัญชีที่มียอดเงินไม่สูง หรือไม่มีความเคลื่อนไหวบ่อย หากต้องผูกกับแอปช้อปปิ้งออนไลน์ หรือแอปอื่นๆ
- บางธนาคารมีตัวเลือกเปิด-ปิดการทำธุรกรรมจากต่างประเทศได้ หากไม่มีความจำเป็นก็ควรเลือกปิดเอาไว้ เพื่อป้องกันการดูดเงินจากต่างประเทศ
อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ก็คือ การตั้งพาสเวิร์ดบัญชีผู้ใช้ให้รัดกุม ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่คาดเดาได้ง่าย อย่างวันเดือนปีเกิด รหัสบัตรประชาชน ชื่อจริง นามสกุล
รวมถึงควรประกอบไปด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ - พิมพ์เล็ก ตัวเลข และอักขระพิเศษ รวมถึงตั้งพาสเวิร์ดให้แตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้บัญชีของเรา ไม่ตกเป็นเป้าของมิจฉาชีพ