Meta ในปี 2022 ถือว่า มีอาการหนักหนาสาหัสอย่างมาก เมื่อความฝันในการไปสู่ ‘จักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse’ ของซีอีโอ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ได้ใช้งบลงทุนมหาศาล แต่กลับไม่รุ่งดังหวัง (แถมโดน AI Chatbot ชื่อดังอย่าง Chat GPT มาแซงทางโค้งช่วงปลายปี จน Bill Gates ยังออกปากชม) กระทบมาถึงพนักงานในบริษัท Meta ที่จำต้องถูกปลดไปกว่า 11,000 ตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา
แต่ดูเหมือนว่า มรสุมจะยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อ มาร์คซักเคอร์เบิร์ก ออกมาเปิดเผยว่า Meta เตรียมปลดพนักงานเพิ่มอีก ‘10,000 คน’ ตามแผนการมุ่งสู่ “ปีแห่งประสิทธิภาพ (Year of Effiency)” ซึ่งไม่ใช่กระทบเพียงพนักงานที่มีอยู่ แต่ยังลามไปถึงการปิดตำแหน่งงานที่อยู่ระหว่างการรับสมัครอีก 5,000 ตำแหน่ง
Meta คาดว่า บริษัทจะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างในเดือนเมษายนนี้ สำหรับทีมที่ทำงานด้านเทคโนโลยี แล้วเริ่มมีผลต่อทีมงานด้านธุรกิจในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ Meta ยังเตรียมลดความซับซ้อนเชิงลำดับขึ้นของพนักงาน ด้วยการปรับโครงสร้างของทีมงานที่ Facebook ให้มีลักษณะคล้ายกับ Instagram ซึ่งพนักงานจะถูกจับกลุ่มตามความเชี่ยวชาญ และขึ้นตรงไปยังผู้จัดการ หรือผู้บริหารระดับสูงที่มีจำนวนน้อย
นอกจากการควบคุมรายจ่ายแล้ว Meta ยังเตรียม ‘เพิ่มรายรับ’ ให้มากขึ้นด้วย โดย Stephane Kasriel หัวหน้าฝ่ายด้านพาณิชย์และการเงินของ Meta ได้เผยว่า บริษัทเตรียมยุติบริการที่เกี่ยวข้องกับ NFT บน Facebook และ Instagram แต่จะหันไปโฟกัสกับฟีเจอร์ Reels มากขึ้น เพื่อรองรับการส่งข้อความ (Messaging) และสร้างรายได้ (Monetization) ให้กับเหล่าครีเอเตอร์และผู้ใช้งาน
โดย Meta จะยังคงทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ด้าน NFT หรือ Web 3.0 ให้สามารถมาใช้เครื่องมือของ Meta สร้างการเติบโตของคอมมูนิตี้ตนเองได้ และเป็นบันไดสู่การสร้าง Metaverse ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคมปี 2022 ที่ผ่านมา Meta ได้ทดลองให้บริการฟีเจอร์ Digital Collectibles ที่ให้ผู้ใช้สามารถแสดง NFT บน Facebook และ Instagram ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเต็มที่ในเดือนกันยายน ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น จะเปิดให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถสร้าง (Mint) และขายผลงาน NFT ของตนเองบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Polygon ผ่านแพลตฟอร์มในเครือ Meta ได้โดยตรง
แม้รายได้ของ Meta ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 จะลดลง แต่พระเอกหลักของบริษัท และพี่ใหญ่ของวงการโซเชีบลมีเดียอย่าง Facebook ก็ยังมียอดผู้ใช้งาน (DAUs : Daily Active Users) เติบโตต่อเนื่องโดยแตะระดับ 2,000 ล้านคนครั้งแรก เพิ่มขึ้น 16 ล้านคนจากไตรมาสก่อนหน้า
นอกจาก Facebook แล้ว ‘WhatsApp’ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ในเครือของ Meta ก็ได้มีผู้ใช้ทะลุ 2,000 ล้านคนแล้วตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นอีกเครื่องจักรสำคัญของอาณาจักร Meta
สำหรับแผนจากไล่ตามความฝันในการสร้าง Metaverse ของ มาร์ค ที่ส่งผลทำให้บริษัทขาดทุนกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์แล้ว เมื่อช่วงเดือนก.พ. ที่ผ่านมา มาร์คได้ประกาศจัดตั้งทีมใหม่ที่จะดูแลด้าน Generative AI (AI ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกันกับ Chat GPT) เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้กับแอปพลิเคชันด้านการสื่อสารผ่านข้อความ เช่น Messenger และ WhatsApp รวมถึงแอปพลิเคชันด้านรูปภาพอย่าง Instagram
ที่มา : Meta, TechCrunch , Engadget, The Verge