ธุรกิจการตลาด

ผ่างบแบงก์ ครึ่งงแรก ปี 2566 10 แบงก์ กำไรพุ่งกว่า 1.2 แสนล้านบาท

22 ก.ค. 66
ผ่างบแบงก์ ครึ่งงแรก ปี 2566  10 แบงก์ กำไรพุ่งกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ประกอบการออกมาค่อนข้างเป็นที่พอใจ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความสั่นไหลเรื่องสภาพคล่อง เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง และเศรษฐกิจไทยที่ต้องฝ่าด่านยอดส่งออกที่ลดลง ความหวังเดียว คือ รายได้จากการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่แน่นอนสูง รัฐบาลชุดใหม่จะเกิดขึ้นภายในส.ค.-ก.ย.หรือไม่ จะหวังพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐในกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะยาก 

SPOTLIGHT  ได้รวบรวมผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้ง 10 ธนาคารจะเป็นอย่างไรกันบ้าง?

พบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ( 10 ธนาคาร) ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิถึงราว 121,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำกำไรได้ 105,798 ล้านบาท 

ผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปี  2566 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในช่วง 5 เดือนแรกเติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีความหวังว่าปีนี้ทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 29-30 ล้านคนเลยทีเดียว ที่จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้

โดยเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปนี้ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบาย เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการลดบทบาทมาตรการภาครัฐ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

103454

 

SCBx  กำไรสูงสุดอันดับ 1 หลายสมัย

โดยครึ่งแรกปีนี้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBx  ทำกำไรสุทธิได้ถึง 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8%  ส่วนในไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ จำนวน 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของฐานรายได้ และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

SCBได้ตั้งเงินสำรองในเชิงรุกจำนวน 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง และมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ 

ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 170.6% และคุณภาพของสินเชื่อโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 3.25% ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 3.32% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลประกอบการโดยรวมถือว่ามีความแข็งแกร่ง โดยมี ROE เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 10% เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตโควิด SCBx ยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง”

พร้อมกันนี้ กลุ่ม SCBX ยังคงมุ่งมั่นในการวางรากฐานในการเติบโตในระยะต่อไป ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาในประเทศไทย และแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดได้เปิดตัวธุรกิจบริการเรียกรถ (Ride Hailing) นอกจากนี้ ความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SCBX 

KBANK อันดับ 2 กำไรหดตัวเล็กน้อย

KBANK มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ 21,735 ล้านบาท ลดล 1.22% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามแนวทางที่ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองฯ ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1 ปี 2566 

โดยในไตรมาส 2 นี้ ยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 32.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่มีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า 

เพื่อรองรับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่กระจายตัวทั่วถึง และส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง 

โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 54,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ร่วมกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า “ในช่วงที่เหลือของ ปี 2566 นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจประคองทิศทางการเติบโตได้ แต่แนวโน้มในภาพรวมยังคงเปราะบางและยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเด็นคุณภาพหนี้ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา”

อันดับ 3 แบงก์กรุงเทพ กำไรพุ่ง 52%

BBL ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 52.2% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 36.0% เป็นไปตามภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 

จึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.88%  รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน  สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 18.3% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ลดลงเป็น 47.1% 

นอกจากนี้ BBL ได้มีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งสำรองในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทำให้สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวดแรกปี 2566 มีจำนวน 17,354 ล้านบาท

อันดับ 4 กรุงไทย กำไรยังโตดี

Krungthai ครึ่งแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ  20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% ผลจากรายได้จากการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง

โดยไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 10,156  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5%  โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 28.0% และมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 21.2% จากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า “ กรุงไทยดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ” 

แบงก์กรุงไทยได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 36.8% โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage ratio ที่ระดับ 177.4% และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) 3.11%ลดลงจากสิ้นปี 2565 

แบงก์อันดับ 5 กรุงศรี กำไรยังโตดี

Krungsri มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ที่ 17,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.0% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือ รายได้จากการดำเนินงาน ที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศในไตรมาสที่สอง

โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น 

รวมถึงภาระการตั้งสำรอง เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ 9.1% และสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ 4.5% ซึ่งครอบคลุมบริษัทในเครือแห่งใหม่ในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม

ทั้งนี้ กรุงศรีมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.52% จาก 3.36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 2.31% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 134 เบสิสพอยท์    


ด้านนายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ กรุงศรียังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารได้เข้าซื้อธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาค โดยการควบรวมบริษัทในเครือใหม่นี้ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในระหว่างไตรมาส”  

แบงก์อันดับ 6 ttb กำไรโตดี พุ่ง 33%

ttb มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก ที่ 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ถึง 33.6%  โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักจาก ทั้งรายได้ การบริหารค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากสถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดและควบคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพให้อยู่ในระดับต่ำที่ 2.63% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 144% 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เผยว่า “ ttb ยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตด้านรายได้และกำไรในแต่ละไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความสำเร็จจากการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ตทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน (Asset-Liability Management) เพื่อรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้เป็นอย่างดี”   

ด้วย 2 กลยุทธ์หลักที่ใช้ในการบริหารพอร์ตเพื่อหนุนรายได้ดอกเบี้ย ได้แก่ การรีไซเคิลเงินทุน หรือ การหมุนเวียนนำเอาสภาพคล่องที่ได้รับกลับมาจากการชำระคืนหนี้ไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนดไว้ 

โดยวิธีนี้จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ โดยที่ธนาคารไม่จำเป็นต้องเร่งเติบโตสินเชื่ออย่างรวดเร็วจนอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ในภายหลัง

ขณะที่เงินฝากธนาคารใช้กลยุทธ์การขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยได้ทยอยเพิ่มเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงไม่ต้องเร่งขยายเงินฝากมากนักในปีนี้ ช่วยควบคุมต้นทุนเงินฝากได้เป็นอย่างดี  

อันดับ 7 ทิสโก้ รุก “สมหวัง เงินสั่งได้”

TISCO ในช่วงครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ ที่ 3,646.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น โดยสินเชื่อเติบโต 5.2% นำโดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยขยับตัวสูงขึ้น ด้านต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมรุกตลาดสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ผ่านการขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ และเงินสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 224% 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก โดยทิสโก้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% ด้วยแรงส่งหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง 

แต่ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและงบลงทุนต้องล่าช้าออกไป ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยอย่างเร็วแรงในตลาดโลกที่อาจก่อให้เกิด Unintended Consequences เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 

ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นแรงกดดันต่อค่าครองชีพและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงเช่นในปัจจุบัน 

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เผยว่า “ ทิสโก้ยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจที่เชี่ยวชาญ ตามพันธกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ผ่าน 3 กลไกหลัก คือ “Passion” สิ่งที่เรามุ่งมั่น “Professional” สิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญ และ “Social” เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สังคมได้”

โดยกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนไทย ด้วยการเข้าไปช่วยคนไทยวางแผนทางการเงินอย่างจริงจังในทุกกลุ่มเป้าหมาย 

ด้วยกลยุทธ์การสร้างจุดร่วมของผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมาดูแลลูกค้า ครอบคลุมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่ตอบโจทย์ครบทั้ง Wealth Creation และ Wealth Protection การออกแบบบริการให้แก่ลูกค้ารายใหญ่แบบองค์รวม (Total Solutions) โดยเฉพาะในลูกค้ากลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ 

พร้อมทั้ง การเร่งขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบแก่ชุมชนและธุรกิจรายย่อย ตามหลัก Responsible Lending และการแก้หนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ผ่านการรวมหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า เป็นต้น

อันดับ 8 KKP กำไรหดถึง 15%

KKP ประกาศผลประกอบการมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ที่ 3,493 ล้าบาท ลดลงถึง 14.6% โดยรายได้รวมยังอยู่ในระดับที่ดี เพิ่มขึ้น 14.1% หลักๆ มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 22.4% ตามสินเชื่อที่ขยายตัว ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 38.7% และมีผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขาย(NPA) จำนวน 2,063 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการขาดทุนจากรถยึดที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายสินเชื่อเช่าซื้อ และเร่งบริหารความเสี่ยงเชิงรุก โดยบริหารจัดการปริมาณรถยึดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ทั้งนี้ KKP มีเงินกองทุนอยู่ที่ 11.0%  สินเชื่อขยายตัวที่ระดับ 5.6% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อไมโครเครดิต และสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แบงก์อันดับ 9 CIMBT กำไรลด เหตุสำรองเพิ่ม           

CIMBT มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,369 ล้านบาท ลดลงถึง 35.3% สาเหตหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น

พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยว่า “กำไรสุทธิลดลงจำนวน 746.6 ล้านบาท หรือ 35.3% เป็นจำนวน 1,368.9 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันนั้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 94.2%  โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.1% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 3.3%  ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารด้วยการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ 

CIMBT ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สำหรับอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 122.1%  เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 114.6%  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 21.2% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 15.7%

อันดับ 10 LHFG กำไรพุ่งสูงมากถึงกว่า 60%

LHFG มีกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2566 อยู่ที่ 1,201.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.3% หลักๆ มาจากเพิ่มขึ้นของธนาคาร จากการขยายสินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และธนาคารยังมีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดย Coverage Ratio อยู่ที่ระดับ 228.73% และ NPL Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 2.32% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.09% ฃ

ภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ออกมาค่อนข้างสดใส ภายใต้ความเสี่ยงมากมาย ซึ่งทุกธนาคารเองก็มีความระมัดระวังความเสี่ยง โดยมีการเพิ่มการตั้งสำรอง เพื่อรองรับความเสี่ยงกันในอนาคต ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ การดูแลลูกค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียในอนาคต ถ้าทุกแบงก์ช่วยกันเข้าไปดูแล ทั้งลูกหนี้ที่ดี และลูกหนี้ที่เปราะบางก็จะส่งผลดีกับทั้งประเทศไทย ไม่ใช่แค่แบงก์และลูกค้าเพียงเท่านั้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT