ธุรกิจการตลาด

SCGP ปีนี้ตั้งงบลงทุนทั้งปี 18,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจเวียดนาม-อินโดนีเซีย

26 ก.ค. 66
SCGP ปีนี้ตั้งงบลงทุนทั้งปี 18,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจเวียดนาม-อินโดนีเซีย

บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP รุกขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เน้นการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership: M&P) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เล็งตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง 

ทุ่มงบปีนี้ 18,000 ล้านบาท M&P 9,000 ล้านบาท

โดยปีนี้ขยายการลงทุน ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ประมาณ 18,000 ล้านบาท ยังคงมุ่งเน้นการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership: M&P) ประมาณ 9,000 ล้านบาท 

รวมถึง การรองรับความเป็นไปได้ในการลงทุนซื้อหุ้นใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทจึงได้มีการบันทึกบัญชีรายการในงบดุลคิดเป็นมูลค่ารวม 23,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งจะเป็นการซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มเติมจำนวน 44.48% โดยคาดว่าธุรกรรมนี้จะเกิดขึ้นในช่วงประมาณกลางปี 2567

จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน SCGP ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรโดยการเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน (Chain Integration) และการประสานความร่วมมือของทุกธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ (Synergies) ผ่านการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน (Cross-Selling) การรวมซื้อวัตถุดิบแบบรวมศูนย์ (Pool-Sourcing) และการวางแผนการผลิตสินค้า (Product Rationalization) ควบคู่ไปกับการบริหารกระแสเงินสด และงบประมาณการลงทุน (CAPEX) ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

คาดรายได้ H2/66 ดีกว่า H1/66 และดีกว่า H2/66

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP คาดว่า รายได้จากการขายในครึ่งปีหลังนี้จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก และช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขายรวมอยู่ที่ 65,945 ล้านบาท เป็นไปตามภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังในภูมิภาคอาเซียนที่น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ คาดว่าการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเตรียมรับเทศกาลในช่วงปลายปี แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งออกจากอาเซียนไปยังประเทศปลายทางแถบยุโรป ซึ่งความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงชะลอตัว

ขณะที่ราคาต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปถึงช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) มีแนวโน้มทรงตัว ซึ่ง SCGP ยังคงบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้จากการขายจะเติบโตที่ 1.6 แสนล้านบาท ประกอบกับมองว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อจะไม่กระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ยังเป็นที่ต้องการ เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคและอุปโภค

SCGP ยังได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอยู่ระหว่างร่วมกับออริจิ้น แมตทีเรียลส์ (Origin Materials) ในการพัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ซึ่งผลทดสอบล่าสุดได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบในห้องแล็ปและการปรับคุณสมบัติที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้วผลเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนPilot Plant Scale และเลือกพันธมิตรเพื่อร่วมมือพัฒนาในขั้นตอนต่อไป

พร้อมทั้งทำการวิจัยและพัฒนา Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในอาเซียน และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทางการปลูกจนถึงการแปรรูปไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

คาด H2/66 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนฟื้นตัว

แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครึ่งปีหลังในภูมิภาคอาเซียนคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อเตรียมรับเทศกาลในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งออกจากอาเซียนไปยังประเทศปลายทางแถบยุโรป ซึ่งความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงชะลอตัว โดยราคาต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปถึงช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะที่ราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) มีแนวโน้มทรงตัว ซึ่ง SCGP ยังคงบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม SCGP จะยังรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการเดินหน้าตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีผลการดำเนินงานที่ดีและเป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับ SCGP 

โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง โดยได้เตรียมเข้าลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม เสริมความครบวงจรและการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างบริษัทย่อยอื่น ๆ ในประเทศเวียดนามของ SCGP

ประเมินการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 การบริโภคในประเทศ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค และส่งผลบวกต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบริโภคในเทศกาลช่วงปลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง

สำหรับภาคการส่งออกของอาเซียนยังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศปลายทางในแถบยุโรปท่ามกลางนโยบายการเงินที่เข้มงวด ภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าไม่จำเป็น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ เป็นต้น


สำหรับปัจจัยทางด้านต้นทุนคาดการณ์ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะยังมีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มอยู่ในระดับทรงตัว

ทุ่มวิจัยและพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมโซลูชันบรรจุภัณฑ์ตลอดเวลา 

นอกจากนี้ SCGP ได้มีการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในการต่อยอดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมโซลูชันบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พร้อมทั้งยึดหลัก ESG เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและสร้างความเป็นเลิศด้าน ESG ในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทานซึ่งรวมถึงความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย

H1/66 รายได้ลดลง 12% จากปริมาณและราคาที่ลดลง

สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก SCGP มีรายได้จากการขายรวม 65,945 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน รายได้จากการขายที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ลดลง ในช่วงที่อุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดส่งออกยังชะลอตัว ขณะที่รายได้จากการขายที่ลดลงจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน มาจากราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อที่ลดลง

EBITDA เท่ากับ 9,152 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน และมี EBITDA Margin อยู่ที่ 14% กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,705 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 4% กำไรสำหรับงวดที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากราคาขายที่ลดลง โดยเฉพาะกระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับรายได้จากการขาย

กำไรสำหรับงวดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน มาจากต้นทุนหลัก เช่น วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และพลังงานปรับตัวลดลง ทั้งนี้ SCGP ได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการจัดการเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนงวดไตรมาส 2/66 รายได้จากการขายเท่ากับ 32,216 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,485 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 5%

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT