เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายออกมาแล้วว่า 4 ปีนี้จะเดินหน้าทำอะไรบ้าง ประเด็นร้อนๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบระยะเร่งด่วน ด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพียงครั้งเดียว นโยบายเรื่องลดค่าน้ำ ค่าไฟ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ในแง่มุมของคนทำธุรกิจระดับประเทศอย่าง “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร และเรื่องสำคัญที่เห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามาช่วยกันการคือเรื่องอะไร?
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนว่า มองว่ารัฐบาลที่กำลังจะไปแจกเงินให้กับประชาชนเป็นการช่วยระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนมีเงิน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท
แจกเงิน 10,000 บาท แก้ปัญหาความยากลำบากได้ชั่วคราว
ถ้าเม็ดเงินตรงนี้เอาไปให้คนจนจริง ๆ และเมื่อพวกเขาเอาใช้จ่ายเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนจนในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะไม่ยาว
ปัญหา ก็คือ เงินตรงนี้ถ้าเอาไปแจกแล้ว รัฐบาลจะมีภาระ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะมันเป็นเงินส่วนรวม
“ แจกเงินให้กับประชาชนต้องใช้เงิน 5 แสนล้านบาท เยอะมาก เงินเอามาอย่างไร และคืนอย่างไร ถ้ารัฐบาลทำได้ ก็ถือว่า เป็นการแก้ไขความยากลำบากชั่วคราว และถ้าสามารถนำมาช่วยประชาชนกลุ่มคนจนที่มีปัญหามาตั้งแต่สมัยโควิด คิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะเม็ดเงินพวกนี้จะเข้าไปกระตุ้นในภาคการผลิตทันที เหมือนเรากินยาแก้ปวด”
นโยบายลดค่าพลังงานต้องไม่กระทบการลงทุน
สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการลดราคาพลังงานนั้น มองว่ารัฐบาลต้องไปดูประเทศเพื่อนบ้านข้าง ๆ เรา ว่า มีรายได้ต่อหัวของประชากรในระดับเดียวกัน หรือจีดีพีต่อหัว ต้นทุนของค่าครองชีพมันน่าจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ จึงไปดูต่อว่าราคาพลังงานของเขาอยู่ที่เท่าไหร่
วันนี้ถ้าจะประกาศลดอะไรไปนั้นเป็นเรื่องของส่วนรวม ซึ่งต้องมีที่มาที่ไป และมีเหตุผล และจะต้องไม่กระทบต่อเรื่องการลงทุนด้วย
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่คุยกับแค่ไม่กี่คน จะต้องมีการศึกษา ทำการบ้าน
อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ทำไม 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินในการลงทุนของเขามากกว่าถึง 2-3 เท่า ก็เพราะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำในเวียดนามมีราคาถูก ต้องดูปัญหาตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะขาดความสามารถในการลงทุน เพราะประเทศต่าง ๆ เช่น จีน สิงค์โปร์ เวียดนาม ล้วนแต่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งสิ้น
“ ก่อนจะลดค่าพลังงาน เราต้องไปดูประเทศข้างๆ เรา ปีหนึ่งรายได้ต่อหัวเท่าไหร่ ต้นทุนของค่าครองชีพเท่าไหร่ จ่ายเรื่องค่าไฟ เรื่องน้ำอย่างไร ของเราอย่าให้ถูกกว่าเขา หรือสูงกว่าเขา บวกลบไม่ควรเกิน 5% ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน อย่าเอาใจประชากรอย่างเดียว ประเทศต้องเดินหน้าด้วยโรงงาน แหล่งการผลิต ถ้าแหล่งผลิตต้นทุนสูง มันก็ไม่เวิร์ค ตรงนี้ต้องมาดูเหตุผล ไม่เช่นนั้น ไทยจะขาดความสามารถในการแข่งขัน”
นโยบายขึ้นค่าแรงควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่นโยบายขึ้นค่าแรงนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งหากค่าแรงให้ถูกแบบนี้มองว่ามันก็ไม่ยุติธรรม ลองคิดดูถ้าเราเป็นผู้ใช้แรงงาน เราอยู่ไหวหรือไม่ ในสถานการณ์เงินเฟ้อ ต้นทุนค่าครองชีพสูง การขึ้นค่าแรงต้องไม่ใช่เอาระบบประชานิยมมา
แต่การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเช่น จาก 200 บาทเป็น 300 บาท ภายในเวลาเท่านี้ เห็นว่าแบบนี้ไม่ใช่การบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การจะขึ้นค่าแรงควรจะ ขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขึ้นอย่างมีเหตุผลเช่น เงินเฟ้อเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ค่าพลังงานเท่าไหร่ แต่ละปีมันเพิ่มเท่าไหร่ เมื่อเราเห็นตัวเลขตรงนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะปรับจากตัวเลขนี้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งต้องทำทุกปี เพราะต้นทุนมีการขยับขึ้น
“ การขึ้นค่าแรงต้องไม่ใช่เอาระบบประชานิยมมาขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเช่น จาก 200 บาทเป็น 300 บาท ภายในเวลาเท่านี้ แบบนี้ไม่ใช่การบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสม การจะขึ้นค่าแรงควรจะ ขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขึ้นอย่างมีเหตุผล เช่น เงินเฟ้อเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ค่าพลังงานเท่าไหร่ แต่ละปีมันเพิ่มเท่าไหร่ เมื่อเราเห็นตัวเลขตรงนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะปรับจากตัวเลขนี้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งต้องทำทุกปี เพราะต้นทุนมีการขยับขึ้น”
แนะให้เวลารัฐบาลทำงานก่อนสัก 1 ปี
" ที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองที่มีผลงานทางเศรษฐกิจกี่คน แต่วันนี้เราได้คนที่เขามีฝีมือ มีผลงาน เขาบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เขาผ่านขั้นตอนมา เขารู้ว่าอะไรถูกควร ปล่อยให้เขาบริหารสัก 1 ปี เมื่อครบแล้วค่อยอัดเต็มที่ ไม่ต้องยั้งมือ ที่พูดไว้ทำได้หรือไม่ วันนั้นถ้าผมมีโอกาสก็จะไปอัดด้วย”
วันนี้เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศต้องให้โอกาสเขา คอยดูว่าสิ่งที่เขาพูดมาทำได้กี่เปอร์เซนต์เมื่อครบ 1 ปี สิ่งใดที่เขาทำๆมาได้ เราก็อัดเขา แต่สิ่งไหนที่เขาทำได้เราก็ต้องปรบมือ สนับสนุนเขา ถ้าเราทำแบบนี้ คนเก่ง ๆ ในประเทศเราก็จะมีกำลังใจ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก แต่ไม่มีใครยอมที่จะมาทำหน้าที่บริหาร เพราะไม่อยากเจ็บตัว
“ คนที่มาทำหน้าที่บริหารประเทศถ้าเขาสามารถตั้งใจกับงานและหน้าที่รับผิดชอบได้เต็ม 100 โดยที่ไม่ต้องมีใครไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เขาทำงานไปก่อน สุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ประเทศ”
แนะรัฐบาลแก้กม.ประหารชีวิตกับมิจฉาชีพ
นายวิกรม กล่าวถึงถึงกรณีที่ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อไปหลอกประชาชนลงทุน พบมูลค่าความเสียหายหลักพันล้าน แนะรัฐบาลชุดใหม่เพิ่มความเข้มข้นของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยแนะให้แก้บทลงโทษให้ประหารชีวิต พร้อมทั้งเสนอสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด
ในปัจจุบันมีการปราบปรามผู้กระทำผิดจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยเมื่อเดือน พ.ย.65 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ประมาณ 50 รายและเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาจับกุมได้อีก 10 ราย
“ สถานการณ์การหลอกลวงประชาชนยังบานปลายมากขึ้นไม่ได้ลดลง ผมไม่มีนโยบายเชิญชวนใครมาลงทุนทั้งสิ้น มิจฉาชีพโพสต์คลิปและข้อมูลของนายวิกรมและ AMATA ไปใช้หลอกลวงประชาชน โดยอ้างผลตอบแทนที่สูงมากกว่าความเป็นจริง รัฐบาลควรออกข้อกำหนดบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต เชื่อจะไม่กล้ากระทำผิด รัฐบาลไทยต้องร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งจีน ไต้หวัน ซึ่งคาดว่ามีคนในทั้งสองประเทศเป็นตัวการหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ”
นายวิกรม เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยทางไซเบอร์ต่อรัฐบาลใหม่ที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศ 4 แนวทาง ได้แก่ การประชาสัมพันธ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอให้เหมือนกับการเปิดเพลงชาติทุกเช้า เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ถึงการหลอกลวง โดยแนะให้มีการนำเสนอถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มูลค่าความเสียหาย บอกเล่าเหตุการณ์ที่มิจฉาชีพหลอกลวงเหยื่อ
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องทบทวนบทลงโทษในคดีหลอกลวงของมิจฉาชีพ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลควรออกข้อกำหนดบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต เชื่อว่าจะส่งผลให้กลุ่มมิจฉาชีพไม่กล้ากระทำผิด และนำมาตรฐานบทลงโทษอ้างอิงในต่างประเทศมาปรับใช้ แต่ก็ต้องระมัดระวังการตรวจสอบให้เข้มงวดไม่ให้เกิดการจับผิดตัวแล้วลงโทษ
รัฐบาลไทยต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งจีน ไต้หวัน ซึ่งคาดว่ามีคนในทั้งสองประเทศเป็นตัวการหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ รวมทั้งร่วมมือกับประเทศที่เป็นที่พักพิงของกลุ่มมิจฉาชีพ ทำงามร่วมกันอย่างจริงจัง รวมทั้งนำผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาดำเนินการปราบปรามปัญหาภัยไซเบอร์ เชื่อว่าความเสียหายก็จะลดลง