ธุรกิจการตลาด

Meta เชือด ‘แอคปลอม’ เกือบ 700 ล้านบัญชี ลบโพสต์ตุ๋น 1.1 พันล้านโพสต์

25 ต.ค. 66
Meta เชือด ‘แอคปลอม’ เกือบ 700 ล้านบัญชี ลบโพสต์ตุ๋น 1.1 พันล้านโพสต์

ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกให้โอนเงิน หลอกขายของไม่ตรงปก โรแมนซ์สแกม ฯลฯ ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิกในสังคมไทย ยิ่งช่องทางการสื่อสารวิวัฒนาการไปมากเท่าไร ดูเหมือนว่ากลโกงของการหลอกก็จะสดใหม่และซับซ้อนขึ้น รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะยิ่งทวีความรุนแรง และกระจายวงกว้างขึ้นไปทุกที

 

1698237400275

 

 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า คดีฉ้อโกงผ่านทางช่องทางออนไลน์ยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ขายของออนไลน์, หลอกทำภารกิจ, หลอกกู้เงิน, คอลเซ็นเตอร์ และหลอกลงทุน ซึ่งในระยะเวลาปีเศษๆ ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์คดีฉ้อโกงทางไซเบอร์กว่า 360,000 คดี เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 600 -700 คดีต่อวัน

 

ด้านสถิติจาก Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Facebook, Instagram และ Whatsapp เผยว่า Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook และได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น อ้างอิงจากข้อมูลรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566

 

โดย 98.8% ของบัญชีปลอม และ 95.3% ของเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวง จะถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้

 

จุดนี้แสดงให้เห็นว่า เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดบัญชีปลอม และเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีหน้าที่สำคัญในการ ‘ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม’ ก่อนที่จะลามไปเกิดเป็นความเสียหายแก่ผู้ใช้ โดยสำหรับ Meta มีมาตราการด้านต่างๆ เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

 

1698237397762

 

ถอดหลักคิด Meta ตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์ม

 

Meta มีนโยบายในกันสกัดกั้นไม่ให้เนื้อหาที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกลวง ให้ข้อมูลเท็จ หรือฉ้อโกงเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม โดยใช้หลัก ‘Risk-based approach’ หรือการคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากบัญชีต้องสงสัย นำไปสู่การสกัดกั้นตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีนี้ หากแพลตฟอร์มพบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งหากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือ Meta พบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ จะจัดการลบบัญชีดังกล่าว 

 

นอกจากนี้ Meta ยังจะเดินหน้าดำเนินการและลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย โดย Meta ได้ใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย

 

• ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta

• ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง

• ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ

• จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

• ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

 

1698237402941

 

สกัดช่องทางตุ๋นแบบใหม่ ‘ยิงแอดหลอกเชือด’

 

อีกหนึ่งช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการกระจายเฟคนิวส์ เผยแพร่ช่องทางล่อลวง หรือเข้าถึงผู้เคราะห์ร้ายก็คือการยิงโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งโดย เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มของเราถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือของ Meta โดยนโยบายของเราไม่อนุญาตโฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากเราตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณาของเรา เราจะดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที”

 

“ในปัจจุบัน เราได้ใช้กระบวนการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบายของเรา เรามีการดำเนินงานเชิงลึกที่มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยเรายังตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาของเรา และเรายังคงมองหาวิธีการในการขยายกระบวนการดำเนินงานและเครื่องมือของเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณามาที่เราได้”

 

1698237443988

 

กำแพงกันภัยไซเบอร์ 3 ชั้น : แพลตฟอร์ม หน่วยงานรัฐ ภูมิคุ้มกันของผู้ใช้งาน

 

การที่มิจฉาชีพจะเจาะเข้ามายังผู้เสียหายได้นั้น จะต้องผ่านกำแพง 3 ชั้นด้วยกันก็คือ มาตรการด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม, การป้องกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยไซเบอร์ ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปราการสุดท้าย ก็คือ ภูมิคุ้มกันของตัวผู้ใช้งานเอง ซึ่งแน่นอนว่ามิจฉาชีพนั้นจะหาทางเจาะเข้ามาผ่านทั้ง 3 ช่องทางนี้ และอัพเกรดวิธีการเจาะให้สดใหม่ และซับซ้อนอยู่เรื่อยๆ

 

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคม โดยเรามีการพูดคุยและมีกรอบความร่วมมือในหลาย ๆ เรื่องรวมถึงการรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มของ Meta และแอป Facebook นั้น เรามีการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงดีอีเอสและมีการจัดการเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วที่ทางกระทรวงได้แจ้งข้อมูลเข้ามา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้และแคมเปญการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ 

 

นอกจากนั้น เรายังมีการตรวจหาและไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ และด้วยเทคโนโลยี machine learning และ AI ก็ทำให้เราสามารถตรวจพบเนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้อื่น ๆ จะได้เห็นด้วย” คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าว

 

เพื่อความแข็งแกร่งให้กับปราการด่านที่ 3 Meta ได้จัดแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand โครงการหลักในการเสริมทักษะดิจิทัลของ Meta ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัย และการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ 

 

โดยภายใต้แคมเปญดังกล่าว ได้มีการเปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้และวิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่ให้บริการเป็นภาษาไทยอย่างหลากหลาย และยังมีการร่วมพัฒนาแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกับหลากหลายองค์กร ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแคมเปญดังกล่าวได้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี พ.ศ. 2564 

 

นอกจากนี้ แคมเปญ #StayingSafeOnline ยังกำลังจะเปิดตัวการดำเนินงานเฟสใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญกับเคล็ดลับในการระมัดระวังและรู้เท่าทันสแกมเมอร์ที่มีอยู่หลากหลายประเภท

advertisement

SPOTLIGHT