Nike และ Skechers เป็นแบรนด์รองเท้าสนีกเกอร์เบอร์ต้น ที่เชื่อว่าทุกคนจะมีติดบ้านอย่างน้อย 1 คู่อย่างแน่นอน แต่หากเดินเข้าช้อปของทั้งสองแบรนด์แล้วคิดว่า ทำไมหลายรุ่นมีดีไซน์ละม้ายคล้ายกันมาก อยากบอกว่าคุณไม่ได้คิดเองคนเดียว เพราะ Nike ก็คิดเช่นเดียวกัน และได้ลุยฟ้อง Skechers ด้วยข้อหา ‘ลอกดีไซน์’ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2016 แล้ว โดยล่าสุด ได้ฟ้อง Skechers และคู่แข่งจากสหรัฐอีกราย New Balance ว่าลอกเลียนเทคโนโลยี ‘Flyknit’ อันเลื่องชื่อของแบรนด์ เปิดศักราชใหม่ให้กับศึก ‘เท้าชนเท้า’ ของทั้ง Nike และ Skechers
ย้อนกลับไปยังปี 2012 Nike ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่ออกมาปฏิวัติวงการรองเท้าที่มีชื่อว่า ‘Flyknit’ ซึ่งเป็นการขึ้นรูป Uppers (ส่วนบนของรองเท้า) ด้วยเส้นใหญ่ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ การถักแบบเฉพาะ ที่บางโซนจะถักทออย่างแน่นหนาเพื่อซัพพอร์ตเท้า ในขณะที่บางโซนจะถักทอให้ยืดหยุ่นกว่าเพื่อความสบาย และการระบายอากาศ ทำให้เกิดเป็นรองเท้าที่มีลักษณะเหมือนถุงเท้า ใส่สบาย เข้ารูปเท้า แต่ก็ยังคงความแข็งแรง ไม่เสียรูป
ซึ่ง Flyknit ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้กับนักกีฬาหรือผู้ใช้งานที่สวมใส่ แต่ยังช่วยจัดการปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการตัดเย็บรองเท้าจากผืนผ้าใบอีกด้วย ซึ่งความมุ่งหมายด้านความยั่งยืนของ Nike ในลักษณะนี้ ส่งผลให้ Nike คลอดสิทธิบัตรออกมามากกว่า 300 ใบ ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (3.6 พันล้านบาท)
แน่นอนว่าเทคโนโลยีสุดล้ำของ Nike ชิ้นนี้ จะต้องไปสะดุดตาบรรดาแบรนด์คู่แข่งในตลาดที่มีอยู่มากมาย ทำให้ Nike เริ่มเดินสายฟ้องแบรนด์คู่แข่งในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรนวัตกรรมของตน ไล่ตั้งแต่คู่แข่งตลอดกาลอย่าง Adidas ไปจนถึง Puma และ Lululemon โดยสองแบรนด์แลกได้จบคดีความกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แบรนด์หลังยังคงดำเนินการต่อสู่กันทางกฎหมายต่อไป
Skechers แบรนด์รองเท้าชื่อดังจากสหรัฐ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในการเป็นออกรองเท้า ‘หน้าคล้าย’ กับของยี่ห้ออื่น ในปี 2016 นั้น เป็นจุดการเริ่มต้นสงครามการฟ้องร้องที่ Nike ได้ยื่นฟ้อง Skechers ว่าลอกเลียนแบบดีไซน์รองเท้ารุ่น ‘Freee’ และ ‘Flytknit’ ของตนในปี 2016 รวมถึงบริษัทรองเท้าผ้าใบขวัญใจคนทั่วโลกอย่าง ‘Converse’ ที่ถูก Nike ซื้อไป ก็ได้ฟ้อง Skechers ด้วยตั้งแต่ปี 2014 ในกรณีลอกเลียนแบบรองเท้ารุ่นดัง ‘Chuck Taylor’ ซึ่งคดีความยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่ง Nike ได้ออกมาแฉว่า การกระทำเช่นนี้มีเบื้องหลังเป็นบอสใหญ่ของบริษัทอย่าง Robert Greenberg ซีอีโอของ Skechers ซึ่งใช้วิธีการ ‘หยิบแรงบรรดาลใจ’ มาจากสินค้าของเพื่อนต่างแบรนด์ เพื่อหวังสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เพิ่มขึ้น
กลับมาดูความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ Nike ลุยฟ้องทั้ง Skechers และ New Balance ซึ่งในครั้งนี้ Nike ยื่นคำร้องต่อศาลในรัฐ Massachusetts ว่าสินค้าใหม่ของ New Balance หลายตัว ได้ฝ่าฝืนสิทธิบัตร Flyknit ของตน อย่างเช่นรุ่น Fresh Foam, FuelCell และอีกหลายรุ่นของ New Balance ซึ่งได้ใช้นวัตกรรมในลักษณะคล้ายกันเพื่อขึ้นรูป Uppers ของรองเท้า และยังมีคุณสมบัติคล้ายกันด้วย ซึ่งแม้ New Balance จะเคารพในสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาของ Nike แต่ก็ค้านว่า Nike ไม่ควรได้รับสิทธิ์ในการผลิตรองเท้าด้วยกระบวนการเช่นนี้แต่เพียงผู้เดียว เพราะถือเป็นวิธีการผลิตที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้า
ด้าน Skechers ศัตรูคู่ขวัญของ Nike บนชั้นศาลนั้น คราวนี้ถูกฟ้องร้องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเจาะจงไปที่รุ่น ‘Ultra Flex’, ‘Glide Step’ และอื่นๆ ซึ่งในคราวนี้ Nike ไม่ได้หวังเพียงเรียกร้องค่าเสียหายเท่านั้น แต่ยังขอให้ศาลสั่งห้าม Skechers ลอกเลียนแบบดีไซน์รุ่นอื่นๆ อีก ซึ่ง Nike ให้การต่อศาลว่า Skechers นั้นมักใช้กลยุทธ์การ ‘Skecherizing’ ดัดแปลงดีไซน์รองเท้าแบรนด์อื่น ให้มาเป็นแบบของตัวเอง
Nike และ Skechers สร้างความบาดหมางกันบนชั้นศาลมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2016 รวมถึงแบรนด์สนีกเกอร์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น Adidas, Puma รวมเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว โดยเหตุการณ์ในครั้งก่อนๆ เป็นดังนี้
ในศึกการต่อสู้บนชั้นศาลระหว่าง Nike, Skechers รวมถึงแบรนด์คู่แข่งอื่นๆ อย่าง Adidas, Puma และ Lululemon นั้น นอกจากสะท้อนให้เห็นภาพการแข่งขันอันร้อนระอุของอุตสาหกรรมสนีกเกอร์แล้ว ยังทำให้เราเห็นว่า
แบรนด์ระดับโลกพร้อมสู้เพื่อปกป้องนวัตกรรมของตน : Nike ทุ่มงบประมาณกว่า 3,600 ล้านบาท จดสิทธิบัตรกว่า 300 ใบ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และทำให้ตนสามารถพัฒนารองเท้าที่เหนือกว่าคู่แข่งอยู่เสมอ
สมรภูมิสนีกเกอร์การแข่งขันอันดุเดือด : ตลาดสนีกเกอร์ยังคงแข่งขันกันดุเดือด ไม่ใช่เพียงมิติของยอดขายและการตลาด แต่ยังเป็นในแง่ของกฎหมาย การรักษามาร์เก็ตแชร์ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าตนจะเป็นผู้นำเหนือแบรนด์คู่แข่ง
ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้จากนวัตกรรมใหม่ของแบรนด์ : การแข่งขันและต่อสู้ทางกฎหมายเช่นนี้สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคในแง่ที่ว่าแต่ละแบรนด์จะทำเพียงก๊อปปี้เทคโนโลยีของแบรนด์อื่นมาใช้ไม่ได้ แต่ต้องสร้างจุดแข็งใหม่ๆ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมของตัวเองด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคไปในตัว
การรักษาทรัพย์สินทางปัญญา : Nike เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่มีมาตรการเชิงรุกในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตน พร้อมชนกับแบรนด์คู่แข่ง เพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต
ดูเหมือนว่าศึกทั้งในสมรภูมิสนีกเกอร์ และบนชั้นศาลระหว่าง Nike และ Skechers จะยังไม่จบลงง่ายๆ และเราคงจะได้เห็นการแข่งขันทั้งในเชิงของการพัฒนานวัตกรรมให้สนีกเกอร์คู่เก่งของคุณ เก่ง และใส่ได้สบายกว่าเดิม และการเดินทางปกป้องนวัตกรรมเหล่านั้นด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของตลาด ไม่ใช่เพียงแค่การ Copy - Paste ดีไซน์และเทคโนโลยีจากเจ้าหนึ่ง สู่เจ้าหนึ่งอีกต่อไป
ที่มา : Nike, Skechers, The Times of India, Forbes , Quartz, Lexology, Business Wire, Yahoo Finance, Footwear News, Oregon Live