BANPU เดินหน้าเพิ่มความแกร่งในธุรกิจอีโมบิลิตี้
หลายๆ คนอาจรู้จัก บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (MuvMi) ซึ่งมูฟมี เป็นหนึ่งในธุรกิจอีโมบิลิตี้ ของบ้านปู เน็กซ์ในลักษณะ Ride Sharingครอบคลุม 12 พื้นที่ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ และมีจุดให้บริการกว่า 3,000 จุด สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน
ล่าสุด บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาเงินกู้ มูลค่า 2.4 พันล้านบาท กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อเป็นทุนสนับสนุนธุรกิจบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 6 ที่นั่ง จำนวน 1,500 คัน และการสนับสนุนธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
-
สถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับการคมนาคมขนส่งขนาดเล็กในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
-
การขยายฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 1.3 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในมณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยเงินทุนนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานของบ้านปู และสนับสนุนการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจพลังงานที่สะอาดและฉลาดขึ้น (Greener & Smarter)
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูอยู่ในช่วงของการขยายพอร์ตฟอลิโอธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นรวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เพื่อรองรับเทรนด์พลังงานโลก
“เราขอขอบคุณ ADB ที่สนับสนุนความมุ่งมั่นของเรา ทั้งสององค์กรมีปณิธานตรงกันในการสร้างพลังงานที่ยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ความพยายามของเราสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนไปพร้อมกัน”
ด้าน นางซูซานน์ กาบูรี่ ผู้อำนวยการ สำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้กล่าว
“ADB ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานที่มีเสถียรภาพ ราคาสมเหตุสมผล และมีปริมาณคาร์บอนต่ำ ทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจอีโมบิลิตี้ และธุรกิจแบตเตอรี่ เราหวังว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”
รู้จักบริษัท บ้านปู (BANPU)
BANPU หรือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2526 ภายใต้ชื่อ บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 25 ล้านบาท ในการทำสัญญาเช่าช่วงการทำเหมืองถ่านหินที่เหมืองบ้านปู (BP-1) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2536
ด้วยประสบการณ์ด้านพลังงานนานกว่า 41 ปี BANPU ที่ดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมองโกเลีย ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำให้ BANPU กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในประเทศไทยและระดับนานาชาติ
เปิด 3 พอร์ตธุรกิจหลักของ BANPU
1.กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน
: ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การตลาด การค้า โลจิสติกส์ การจัดหาเชื้อเพลิงและสายส่ง
ธุรกิจถ่านหิน : ปริมาณขาย 35.2 ล้านตัน
ธุรกิจก๊าซ : กำลังผลิต 864 ล้านลูกบาศก์ฟุต (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติต่อวัน)
2.กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน
: โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและจากพลังงานทดแทน
ธุรกิจผลิตไฟฟ้า : กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 4,058 เมกะวัตต์
พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป : 3,253 เมกะวัตต์
พลังงานหมุนเวียน : 805 เมกะวัตต์
3.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน
: ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงานและระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ : กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 205 เมกะวัตต์
ธุรกิจจัดเก็บพลังงาน : กำลังผลิตรวม 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง
ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า : ปริมาณขายไฟฟ้า 1,719 กิกะวัตต์-ชั่วโมง
ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน : โครงการสมาร์ทซิตี้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 20 โครงการ
ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ :
-ขยายตลาดเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า บ้านปู เน็กซ์ อีเฟอร์รี่ : 1 ลำ
-ให้บริการรถตู้ไฟฟ้าสาธารณะแก่ผู้โดยสาร : 5,800 คน/วัน
-ขยายตลาดยานยนต์ไฟฟ้า บริการ คาร์ แชร์ริง : 434 คัน
-สถานีอัดประจุไฟฟ้า 326 จุด
โดย BANPU ได้เดินหน้าสร้างความเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจ ผ่านการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด ไปพร้อม ๆ กับเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทบ้านปู ซึ่งประกอบด้วย
-
การกระจายตัวการผลิตและจำหน่ายพลังงานแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralization)
-
การใช้พลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization)
-
การใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digitalization)