ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว จนถึงต้นปีที่ผ่านมา กระแสคริปโทเคอร์เรนซีในบ้านเราร้อนแรงไม่แพ้ราคาบิตคอยน์ ณ ขณะนั้น จนทำให้หลายธุรกิจในบ้านเราเปิดรับชำระสินค้า-บริการด้วยคริปโทหลากหลายสกุล ทั้งผ่านกระเป๋าของเจ้าของร้านเอง หรือผ่านตัวกลางอย่าง ‘เอ็กซ์เชนจ์’ เจ้าต่างๆ ที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ทั้งร้านค้าและลูกค้า ชำระเงินผ่านเหรียญคริปโทหลากหลายสกุล ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากสาวกคริปโทชาวไทย จนส่งผลให้บ้านเรากลายติด Top 5 ประเทศที่ใช้จ่ายด้วยคริปโทเคอร์เรนซีมากที่สุดในโลก
คนไทยช้อปด้วยคริปโท อันดับ 5 ของโลก
Merchant Machine เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลด้านบริการการชำระเงินของร้านค้า เปิดเผยผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ประเทศไทย” ถูกจัดอันดับด้านการใช้จ่ายด้วยคริปโทเคอร์เรนซี เป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจาก สหรัฐ ยูเครน สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดย 10 อันดับประเทศที่ได้คะแนนด้านการช้อปด้วยคริปโทสูงที่สุด เป็นดังนี้
- สหรัฐอเมริกา
- ยูเครน
- สหราชอาณาจักร
- อินเดีย
- ไทย
- รัสเซีย
- ฝรั่งเศส
- เนเธอร์แลนด์
- เวียดนาม
- โคลอมเบีย
จากผลการจัดอันดับดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะครองอันดับ 1 เพราะมีทั้งจำนวนประชากรถือครองคริปโทเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ 27.5 ล้านคน คิดเป็น 8.31% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีจำนวนตู้ ATM บิตคอยน์ จำนวนกว่า 33,212 ตู้ ซึ่งสูงกว่าทุกประเทศในโลกแบบไม่เห็นฝุ่น
แต่ที่น่าแปลกใจคงจะเป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่ แถมมีมูลค่า GDP ต่อหัวต่ำที่สุดในยุโรปอย่าง ‘ยูเครน’ กลับได้ครองตำแหน่งรองแชมป์ และมีสัดส่วนผู้ใช้คริปโทต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก สาเหตุส่วนหนึ่งจากการที่รัฐบาลยูเครนประกาศลดค่าเงินฮริฟเนียลง 25% เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ประชาชนหันมาถือครองสินทรัพย์ที่น่าจะรักษามูลค่าได้มากกว่าสกุลเงินประจำประเทศของตัวเอง
ด้านรัฐบาลเอง ก็ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เพิ่มการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในประเทศเพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแรงของเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอลงจากผลจากสงครามอีกด้วย
การจากอันดับดังกล่าว Machine Merchant ระบุว่า จัดทำขึ้นจาก ดัชนีที่สะท้อนภาพรวมการใช้จ่ายผ่านคริปโท ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้ครอบครองคริปโท จำนวนธุรกิจที่รับชำระเงินด้วยคริปโท จำนวนตู้ ATM ที่ให้บริการถอนบิตคอยน์ จำนวนผลการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึง Global DeFi Index โดย Chainanalysis ที่สะท้อนการเติบโตของ DeFi ในแต่ละประเทศ
Machine Merchant เผยว่า ประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้คริปโททั้งหมด 3.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 5.20% ของประเทศ ได้คะแนน Global DeFi Index สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีจำนวนธุรกิจที่รับชำระเงินด้วยคริปโท มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลกอีกด้วย
กรุงเทพฯ อันดับที่ 6 ‘เมืองหลวงคริปโท’
นอกจากบ้านเราจะเป็นผู้นำในด้านการใช้จ่ายด้วยคริปโทในภาพรวมแล้ว เมื่อเจาะเข้ามามองที่ภาพธุรกิจที่รับชำระเหรียญคริปโท “กรุงเทพมหานคร” ก็ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน โดยมีธุรกิจที่รับชำระค่าบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีจำนวน 39 ธุรกิจ โดยธุรกิจในกลุ่มกีฬา ร้านค้า และร้านอาหาร มีสัดส่วนสูงสุด สำหรับอันดับ 10 เมืองที่มีจำนวนธุรกิจรับชำระค่าบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีสูงที่สุด มีดังนี้
- โบโกตา, โคลอมเบีย (86 ธุรกิจ)
- คาราคัส, เวเนซูเอลา (58 ธุรกิจ)
- โซล, เกาหลีใต้ (47 ธุรกิจ)
- ปารีส, ฝรั่งเศส (46 ธุรกิจ)
- เอเธนส์, กรีซ (43 ธุรกิจ)
- กรุงเทพฯ, ไทย (39 ธุรกิจ)
- เบอร์ลิน, เยอรมนี (39 ธุรกิจ)
- มาดริด, สเปน (35 ธุรกิจ)
- เวียนนา, ออสเตรีย (34 ธุรกิจ)
- อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ (27 ธุรกิจ)
ราคาดิ่ง ฉุดสถานการณ์เปลี่ยน
เมื่อมองภาพวงการคริปโทเคอร์เรนซีในตอนนี้ นับว่าถดถอยลงมาไกลจากช่วงปลายปีที่แล้วมากพอสมควร จากทั้งราคาเหรียญคริปโทที่ร่วงลงหนักกว่า 50% เหตุการณ์ล้มละลายของหลายบริษัทคริปโทยักษ์ใหญ่ รวมถึงการออกเกณฑ์คุมเข้มคริปโทโดย ก.ล.ต. แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง ที่ห้ามหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล เช่น ธนาคาร ผู้ประกอบการ E-Wallet เอ็กซ์เชนจ์ รวมถึงนักลงทุนรายย่อยที่เปิดบัญชีกับเอ็กซ์เชนจ์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ ทำให้ทั้งทางฝั่งธุรกิจร้านค้า และ เอ็กซ์เชนจ์ที่มีแผนจะเพิ่มการใช้งานเหรียญคริปโทในประเทศไทยต้องสั่นคลอน
นอกจากนี้ รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ ของ ก.ล.ต. ฉบับล่าสุด ยังสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดคริปโทในบ้านเราช่วงนี้ “เป็นขาลงอย่างหนัก” เช่น มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงจากเดือน ม.ค. แล้วกว่า 80% จาก 1.29 แสนล้านบาท เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท บัญชีผู้ใช้งานประเภท Active User ที่ลดลงจาก 6.85 แสนบัญชี เหลือ 1.21 แสนบัญชี ลดลงแล้วกว่า 82%
คงไม่น่าแปลกใจ หากในการจัดอันดับครั้งหน้า ประเทศไทยจะถูกจัดอยู่ในอันดับที่ลดน้อยถอยลง หรือไม่ติด 1 ใน 10 ของการจัดอันดับนี้เลยก็เป็นได้
ที่มา : Merchant Machine, Euro News, ก.ล.ต.