สินทรัพย์ดิจิทัล

ครั้งแรก! ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ กรมสมเด็จพระเทพฯ บน NFT

27 เม.ย. 65
ครั้งแรก! ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ กรมสมเด็จพระเทพฯ  บน NFT

เปิดนิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทยฯ Digital Arts NFT : RedCross x KX ผลงานฝีพระหัตถ์ กรมสมเด็จพระเทพฯ


สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด (KASIKORN X : KX) เปิดตัวการจัดงาน “นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX” ครั้งแรกกับปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการศิลปะไทย ที่นำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำมาจัดแสดงในรูปแบบดิจิทัล (Non Fungible Token: NFT) บน Coral Platform ของ KX

โดยเงินรายได้สมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย” พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจชมศิลปะอันทรงคุณค่าที่จัดแสดงทั้งในรูปแบบนิทรรศการและบน NFT Innovation Wall ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ณ บริเวณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM และจะเริ่มเปิดจองบน Coral Platform ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และไอคอนสยาม

s__20529246

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า “การจัดนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ เป็นโครงการที่สภากาชาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นปฐมศิลปินของสภากาชาดไทยพระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ นำมาจัดแสดงและรับบริจาคบน Coral Platform ของ KX ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล Non Fungible Token หรือ NFT

อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ในครั้งนี้ยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะให้เป็นที่ประจักษ์ในรูปแบบศิลปะดิจิทัลอีกด้วย ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ทรงมีพระเมตตา มีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และภัยจากโรคอุบัติใหม่ ที่คุกคามสุขอนามัยของประชาชน โดยเงินรายได้จากการร่วมบริจาคผ่าน Coral Platform ทรงพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์สมทบทุนโครงการ “เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ครอบคลุม ทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่ไม่อาจคาดการณ์ได้”

s__20529252

นางพาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการสภากาชาดไทย และประธานกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เล่าถึงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์ให้กับสภากาชาดไทย จำนวน 32 ภาพ เป็นภาพสีน้ำมัน สีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ และภาพพิมพ์หิน ซึ่งแต่ละภาพมีการบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ท่านบันทึกไว้ในหนังสือ อาทิ ภาพต้นหางนกยูง และภาพแจกันสีม่วง เป็นภาพเก่าที่สุด ทรงวาดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

333282
'ต้นหางนกยูง'

863833

'แจกันสีม่วง'

ต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้นดูแบบจากต้นซึ่งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา ส่วนภาพแจกันสีม่วง ทรงได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จ พระบรมชนกนาถ ทรงทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาดได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง ทรงเล่าพระราชทานว่า ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงสอนเรื่องสีเรื่องแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้


นอกจากนั้น ยังมีภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน อาทิ ภาพชาวนา ภาพกรรมกรเหมืองแร่ รวมถึงภาพที่ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีหรือในหนังสือต่าง ๆ ภาพวัดพระแก้ว ที่บันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์เมื่อพ.ศ. 2527 ทรงบันทึกไว้ว่า

“เดินไปวัดพระแก้ว (ตอนนั้นเสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เพราะกำลังซ่อมพระตำหนักจิตรลดา) หาที่เหมาะ ๆ เขียนรูป ได้ที่ใกล้ ๆ วิหารยอดหอพระนาค วาดหอพระนาค พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป วาดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง อาจารย์นิออน (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) กับพวกมาติดพลอย (บุษบกที่หอพระนาค) เลยช่วยเขาติดพลอย จนสิบเอ็ดโมง” ทรงเล่าขยายความว่า “เสด็จไปเขียนภาพแต่เช้า พอสายมีคนมาไหว้พระ ก็ทรงรู้สึกเกรงใจ เพราะอยู่ๆ มานั่งเกะกะ เขาไม่ได้มามุง เรานั่งอยู่ตรงระเบียง แทนที่เขาจะเดินมาดูรูปรามเกียรติ์ได้ เขาก็ต้องหลบเรา” จึงทรงเลิกวาด เป็นต้น

โดยผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะผนวกกับทรงเป็นนักเล่าเรื่องผ่านการจดบันทึก โดยผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์จะนำมาแปลงให้เป็น Digital File บน Coral Platform ของ KX เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ชมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและเชื่อมโยงโลกศิลปะเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างไร้ขอบเขต”

s__20529249

ภายในงานเปิดตัว “นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX” ได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานทั้งจากแวดวงศิลปะ นักสะสมผลงานศิลปะ และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณเกตุวลี นภาทรัพย์ กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, คุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย, คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X (KX), คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณพิรดา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด, คุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้ร่วมก่อตั้ง ภัณฑารักษ์ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Thailand Digital Arts Festival

259306

สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM ในวันธรรมดาเปิดให้เข้าชม เวลา 11.00-20.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. จากนั้นจะนำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ขึ้นบนเว็บไซต์ coralworld.co เพื่อจัดแสดงและขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคต่อไป ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4440, 0 2255 9911



ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ บน NFT ส่วนหนึ่งที่ได้รับการจัดแสดงในงานฯ

TRC 001
863833
• ชื่อภาพ : แจกันสีม่วง
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2506
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาดได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนเรื่องสีเรื่องแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้

TRC 002
333282
• ชื่อภาพ : ต้นหางนกยูง
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2506
• เทคนิค : สีเทียน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ภาพเก่าที่สุด เห็นจะเป็นภาพต้นหางนกยูง และภาพแจกันสีม่วง ที่ทรงวาด ในพ.ศ. 2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้น ทรงดูแบบจากต้นซึ่งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา

TRC 003
700664

• ชื่อภาพ : วนาศรม
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2525
• เทคนิค : สีโปสเตอร์
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
วนาศรม หรือ “ศาลากลางป่า” ทรงวาดภาพนี้ตามลายปักผ้าที่หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) และอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ร่างถวายตามที่ทรงจินตนาการ ทรงตั้งพระทัยที่จะวาดและระบายสีเพื่อทดลองดูว่าจะใช้ไหมสีอะไรปักจึงจะงาม ที่หน้าบันศาลาไทยในภาพทรงปิดทองคำเปลวด้วย ภาพนี้เป็นภาพหนึ่งที่ทรงพอพระทัย ตรัสว่าวาดยาก เพราะมีรายละเอียดต่าง ๆ มาก

TRC 004
834143
• ชื่อภาพ : ความฝันสีคราม
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2526
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ช่วงนั้นทรงทดลองใช้โทนสีเดียวในการเขียนภาพ สีม่วงบ้าง เขียวบ้าง ภาพนี้ทรงเลือกสีฟ้า และทรงได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของจีน ทรงตั้งใจวาดให้คุณบัญชา ล่ำซำ ทรงพอพระทัยก็เลยวาดอีกภาพให้พระองค์เอง

TRC 007
893753
• ชื่อภาพ : ชาวนา
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2526
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์นี้จากบทกวีจีนโบราณสมัยราชวงศ์ถังบทหนึ่ง กล่าวถึงความทุกข์ของชาวนาว่า ถึงแม้ข้าวจะขึ้นมาก ชาวนาก็ยังอดอยาก ชาวนาต้องตากแดดร้อนยากลำบาก ใครจะคิดบ้างว่า ข้าวแต่ละเม็ดในจาน คือ ความเดือดร้อนแสนสาหัส ทรงวาดโดยใช้สีแดงแทนแดดที่ร้อนแรง ดูแล้วกลัวภาพของตัวเอง วาดคนไม่เป็น ชาวนาเลยดูไม่ค่อยเป็นคน

TRC 008
290113
• ชื่อภาพ : ลำนำหมอก
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2526
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
เมื่อทรงวาดภาพนี้ ต้องพระประสงค์จะใช้สีม่วงเป็นหลัก แต่ภาพนี้ยังไม่ถูกพระทัยนัก ทรงคิดว่า ทรงใส่สีเขียว “หนักมือไปหน่อย”

TRC 013
435073
• ชื่อภาพ : กรรมกรเหมืองแร่
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2526
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงชอบสีที่กลมกลืนกัน ทรงเล่าว่า เด็กๆ ดูแล้ววิจารณ์ว่า เป็นภาพคนเดินในน้ำ เมื่อพระสหายล้อว่า เบ้าสามสี่อันในภาพเหมือนเบ้าโบราณ ก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า “ใช่ เป็นเบ้าเมืองศรีเทพ” เมืองศรีเทพนี้เป็นเมืองโบราณอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์

TRC 015
289833
• ชื่อภาพ : ตกปลา-เดียวดาย
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2526
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงวาดตามบทกวีนิพนธ์จีนของหลิงซงหยวน ชื่อ “เจียงเสวี่ย” (แม่น้ำหิมะ) ทรงโปรดภาพนี้มาก ทั้งๆ ที่พระองค์เองไม่โปรดการตกปลา เพราะไม่โปรดฆ่าสัตว์และไม่โปรดนั่งนิ่งๆ ที่ชอบวาดภาพคนตกปลา รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องรอ ต้องรออะไรสักอย่าง ชอบวาดรูปความนิ่ง ชอบอะไรที่สงบอยู่คนเดียวในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ กว้าง โล่ง ไม่มีคน อยู่เฉยๆ คนเดียว

TRC 018
819060
• ชื่อภาพ : หลังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2527
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงวาดภาพนี้ที่จังหวัดนราธิวาส ทอดพระเนตรเห็นเสื้อผ้าสีต่าง ๆ ที่ตากไว้ที่ราวบริเวณด้านหลังพระตำหนัก ทรงเห็นสวยก็ทรงวาดภาพเก็บไว้ แต่บรรดาเจ้าของเสื้อผ้าบนราวทราบเข้ากลับไม่เห็นด้วย ว่าไม่ใช่วิวที่น่าจะวาด ทรงเล่าขัน ๆ ว่า เจ้าของมาต่อว่า “หาว่าน่าเกลียด มาวาดรูปเสื้อเขาตากไว้ ไม่สวย ไม่น่าวาด”

TRC 019
696415
• ชื่อภาพ : ทางขึ้นพระตำหนักภูพิงค์
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2527
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงวาดที่เชียงใหม่ แต่เป็นทิวทัศน์ที่จินตนาการเอง วาดภาพนี้เพราะเมื่อไปนราธิวาส วาดภาพน้ำตกแล้วเพื่อนเห็นเป็นภาพถนน เที่ยวนี้วาดถนน แต่หลายคนเห็นเป็นลำธารหรือคลองชลประทาน

TRC 020
845829
• ชื่อภาพ : วัดพระแก้ว
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2527
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงเสด็จไปวัดพระแก้วเพื่อหาที่เหมาะ ๆ เขียนรูป ได้ที่ใกล้ ๆ วิหารยอด หอพระนาค วาดหอพระนาค พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป อีกวันทรง เสด็จไปเขียนภาพแต่เช้า พอสายมีคนมาไหว้พระ ก็ทรงรู้สึกเกรงใจ จึงทรงเลิกวาด

TRC 021
234910
• ชื่อภาพ : ชายทะเลหน้าวังไกลกังวล
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2527
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ภาพนี้ทรงวาดเมื่อประทับที่พระตำหนักปลุกเกษม พระราชวังไกลกังวล หัวหิน

TRC 022
730279
• ชื่อภาพ : แลจันทร์
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2527
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 25x30 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีจีนชื่อ “จิ้งเย่ซือ” (ความคิดในคืนอันสงบ) ของหลี่ไป๋ ซึ่งทรงแปลไว้ดังนี้
   แสงพระจันทร์ที่ส่องสว่างอยู่ที่หน้าเตียง
   มองดูเหมือนเกล็ดน้ำแข็งที่ปกคลุมแผ่นดิน
   เมื่อเงยหน้าขึ้นมองเห็นพระจันทร์สว่าง
   ก้มหน้านึกไปถึงบ้านเกิดเมืองนอน


TRC 023
587850
• ชื่อภาพ : พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
• ทรงวาดเมื่อ พ.ศ. 2528
• เทคนิค : สีน้ำมัน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
ทรงขึ้นไปบนผาหมอน วาดพระตำหนัก พอดีหมอกลง เลยขึ้นไม่ได้ พอหมอกจางลงก็ขึ้นเขาวาดรูป ให้กรมวังช่วยยกโต๊ะมาให้สบายดี ทรงวาดอยู่ประมาณสามชั่วโมงก็เสร็จ


TRC 031
803321

• ชื่อภาพ : บ้านคุณหลวง
• เทคนิค : สีเทียน
• ขนาด 30x25 นิ้ว
• รายละเอียดภาพ :
“บ้านคุณหลวง” เป็นบ้านเดิมของหลวงสรรสารกิจ หัวหน้ากองมหาดเล็กในอดีต ทรงวาดจากรูปถ่าย ทรงอธิบายว่า “ข้างๆ ที่สีแสดสีฟ้าต่างๆ นานา รูปถ่ายไม่ได้เป็นอย่างนั้น ใส่สีต่างๆ ให้เอง ที่จริงข้างๆ มีต้นไม้สีเขียว แต่เราเบื่อไม่ได้วาดให้เหมือนจริง สีที่ใช้วาดก็คือสีกล่องยายสุให้ (สุจิตรา จงสถติย์วัฒนา) บ้านนี้เขียนไม่เหมือนนัก เขียนไปเขียนมา นึกไม่ออกว่าหน้าต่างประตูเป็นอย่างไร”


advertisement

SPOTLIGHT