โดย สารัชถ์ ยังให้สัมภาษณ์สื่อหลังจบสัมนาด้วย
สารัชถ์ เผยว่า การร่วมมือกับ Binance เกิดขึ้นเนื่องจาก Binance มีศักยภาพ และเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของโลก นักลงทุนจึงกล้าที่จะลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับหลายบริษัทก่อนเริ่มโครงการนี้ แต่เพราะความน่าเชื่อถือและศักยภาพของ Binance
นอกจากนี้ โลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องแข็งแรง การซื้อขายก็ต้องเป็นเรื่องง่าย ซึ่ง Binance มีตรงนั้น นอกจากนี้ Binance ไม่ใช่แค่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังสามารถต่อยอดบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตได้อีกด้วย
ส่วนประเด็นของการลงทุนในคริปโทฯ สารัชถ์เผยว่า ตนไม่ได้ลงทุน เพราะไม่มีเวลา ก่อนที่จะกลับลำว่า ตอนนี้ตนเองได้ลงทุนเฉพาะ BNB ของ Binance เนื่องจาก Gulf เป็นพันธมิตรกับ Binance และเชื่อมั่นในตัวธุรกิจมากด้วย
เมื่อถามถึงโครงการร่วม Virtual Bank สารัชถ์ เผยว่า บริษัทที่ร่วมในโครงการนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย และ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีจุดแข็งของตัวเอง มีความพร้อม ฐานลูกค้าจำนวนมาก และเข้าใจในตลาดดี อย่างกรุงไทยมีจุดแข็งของการทำธุรกรรมการเงิน ตรวจเช็คถึงความสามารถในการปล่อยกู้ ส่วน AIS เป็นค่ายมือถือที่แข็งแกร่ง และฐานลูกค้าที่หนาแน่น
โดยเบื้องต้นสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF อยู่ที่ 33% กรุงไทย 33% AIS 33% และอื่นๆ อีก 1% ด้วยเงินลงทุนทั้ง 3 บริษัทรวมกันที่ราว 5,000 ล้านบาทในเฟสแรก นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการอีกราย คือ ปตท. หรือ OR แต่ยังไม่ได้มีการตกลง และกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเงื่อนไขของการลงทุนด้วย
สารัชถ์มองว่า Virtual Bank จะเป็นธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ ดอกเบี้ยไม่สูง และมีระบบที่สามรถใช้งานได้ง่าย และในอนาคต ดิจิทัลก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนเราใช้ชีวิตกับดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอไอ ดาต้า คริปโตฯ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องขยายไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้ใช้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎกติกาให้ระยะเวลาถึง 6 เดือน จึงยังไม่มีการยื่นขอใบอนุญาตในทันที