นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันพุธที่ 9 มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เพื่อเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ในการบรรเทาภาระของประชาชนโดยเร็ว
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในปีนี้ไทยและทั่วโลกเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตพร้อมกัน คือ วิกฤติไวรัสโควิด-19 วิกฤติเงินเฟ้อ และวิกฤติสงครามยูเครน-รัสเซีย ได้ส่งผลกระทบราคาพลังงานโลก ซึ่งคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น อาจจะเห็นตัวเลขราคาน้ำมันโลกที่ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายธนกร กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106.58 ดอลลาร์/บาร์เรล เบรนท์ 118.11 ดอลลาร์/บาร์เรล และเวสต์เท็กซัส 110.07 ดอลลาร์/บาร์เรล น้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและขนส่งจะทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งยิ่งแพงขึ้น กระทบทั้งค่าครองชีพ และภาคการส่งออก รวมทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับเงินฝืดส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัวและมหภาค ซึ่งเป็นภาวะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไทยเองก็ไม่แตกต่าง เพราะเราเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาให้เดินหน้ามาตรการเร่งด่วนใน 3 แนวทางหลัก คือ 1. ลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชน 2. บรรเทาภาระหนี้สิน โดยให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และ 3. เร่งการลงทุนภาครัฐ/เอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกได้ขึ้นไปทุบสถิติ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส สหรัฐ ขึ้นไปแตะ 130.05 ดอลลาร์ ก่อนจะลงมาอยู่ที่ 126.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเช่นกัน ถึง 139.13 ดอลลาร์ระหว่างการซื้อขาย ก่อนจะลงมาปิดที่ 129.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
ก่อนหน้านี้ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานะกองทุนฯ ยังมีเงินสดเพียงพอที่จะพยุงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศต่อไปได้จนถึงเดือน เม.ย. 2565 ขณะที่นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการรับมือราคาพลังงานที่พุ่งไม่หยุด เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะมาตรการคงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนี้ ยังคงมาตรการนี้อยู่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามกรอบเป้าหมายเดิม