อากาศร้อนๆ ในเดือนเมษายนแบบนี้ ถ้าได้กิน น้ำแข็งไสราดน้ำแดงสักถ้วย นมชมพูเย็นหอมๆ สักแก้ว หรือน้ำแดงโซดาซ่าๆ สักหน่อยก็คงดับร้อน และชื่นใจไม่น้อย แต่เมื่อพูดถึงส่วนประกอบหลักของทั้ง 3 เมนูอย่าง “น้ำแดงกลิ่นสละ” แบรนด์แรกและแบรนด์เดียวที่โผล่มาในความคิด คงเป็น “เฮลซ์บลูบอย” อย่างแน่นอน
น้ำหวานขวดแก้วแบรนด์นี้ มีดีอะไร ถึงได้ “หวานชื่นรื่นรมย์” มานานกว่า 63 ปี Spotlight จะพาคุณไปรู้จักและไขเคล็ดลับที่ทำให้ เฮลซ์บลูบอย ยังคงยืน 1 ในฐานะ “น้ำหวานขวัญใจคนไทยตลอดกาล”
เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ที่เฮลซ์บลูบอย ใช้ขวดแก้วทรงสูงขนาด 710 มล. ที่พวกเราคุ้นตานี้ บรรจุน้ำหวานหลากหลายกลิ่น หลากหลายรส แต่การใช้ขวดแก้วบรรจุน้ำหวานนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อ ความสวยงาม หรือเป็นเอกลักษณ์ อย่างเดียวเท่านั้น
เฮลซ์บลูบอยเคยเปิดเผยกับเว็บไซต์ ผู้จัดการ ในปี 2016 ว่าที่บริษัทใช้ขวดแก้วในการบรรจุน้ำหวาน จะช่วยยืดอายุให้น้ำหวานมีอายุ 2-5 ปี ต่างจากการบรรจุในขวดพลาสติก ที่จะทำให้มีอายุเพียง 1 ปี ก่อนที่รสชาติจะเริ่มเพี้ยน
เว็บไซต์ Maple Farmers พูดถึงการใช้ขวดแก้ว และขวดพลาสติก เพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับน้ำหวาน อย่าง “เมเปิ้ลไซรัป” การใช้ขวดแก้วบรรจุน้ำเชื่อมเมเปิล จะช่วยป้องกันไม่ให้ “ออกซิเจน” เข้าไปทำปฏิกิริยากับไซรัป ซึ่งจะทำให้สีและรสชาติของเมเปิ้ลไซรัปผิดเพี้ยนไป ซึ่งแก้วทำได้ แต่พลาสติกไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ งานวิจัยจาก วารสาร Food Science ยังเผยว่า ออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้เมเปิ้ลไซรัปที่เก็บไว้ในขวดพลาสติก มีสี รสชาติ และค่า pH เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
เฮลซ์บลูบอย ยังได้บอกถึงอีกหนึ่งเคล็ดลับความอร่อยกับเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ นั่นก็คือ การควบคุมคุณภาพรสชาติให้คงที่ในทุกล็อต แม้น้ำตาลในแต่ละช่วงจะมีคุณภาพที่แตกต่างกัน แต่ทีมควบคุมคุณภาพของเฮลซ์บลูบอย ก็จะปรับแก้รสชาติในทุกล็อตให้เป็นไปตามมาตรฐานของแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้า ได้ลิ้มรสความอร่อยที่คงเดิม ในทุกๆ ล็อตการผลิต
เจ้าของน้ำหวาน เฮลซ์บลูบอย คือ “บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด” ก่อตั้งขึ้นโดย 4 พี่น้องตระกูล “พัฒนะเอนก” ที่เริ่มจากธุรกิจร้านโชว์ห่วย ก่อนจะหันมาทำธุรกิจน้ำหวาน และก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1959 ซึ่งในปีนี้ บริษัทก็จะมีอายุ 63 ปีพอดิบพอดี
โดยนอกจากในประเทศไทยแล้ว เฮลซ์บลูบอย ยังถูกส่งออกไปจัดจำหน่ายยังหลายประเทศทั่วโลก โดยหากคนไทยในต่างแดนคิดถึงน้ำหวานรสชาติที่คุ้นเคยนี้เมื่อไร ก็สามารถเดินเข้าไปยังร้านขายของชาวเอเชีย เพื่อหาซื้อได้เลย
เฮลซ์บลูบอย วางตำแหน่งตัวเองเป็นน้ำหวานประจำครัวเรือน มีใช้ติดทุกบ้าน แม้จะมีแบรนด์ระดับสูงกว่าซึ่งเป็นสินค้านำเข้า หรือแบรนด์ระดับล่างที่เน้นราคาถูกกว่ามาก ก็ไม่สามารถทำให้ น้ำหวานขวดแก้วแบรนด์นี้ สะทกสะท้านได้ แม้จะมีเจ้าใหญ่พยายามมาตีตลาด แต่ก็ต้องถอยทัพกลับไปทุกที
ข้อมูลจาก Euromonitor เผยว่า ในบรรดาตลาดน้ำหวานเข้มข้น ซึ่งรวมทั้งน้ำหวาน ไซรัป และน้ำผลไม้เข้มข้น เฮลซ์บลูบอย ครองตลาดมากถึง 55% ในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เฮลซ์ เทรดดิ้งเอง รายได้และกำไรของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิดด้วยเช่นกัน
ปี 2020 รายได้ 3,320 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 1,057 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 3,769 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 1,099 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 2,889 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 749 ล้านบาท
เฮลซ์บลูบอย ใช้การตั้งราคาที่ไม่สูงเกินไป ล่าสุดอยู่ที่ 53 บาท/ขวด ซึ่งหากนำมาชงเป็นน้ำหวาน 1 แก้ว ปริมาตร 500 มล. (ประมาณ 16 ออนซ์ ตามที่ขายกันในท้องตลาด) ด้วยอัตราส่วนน้ำหวาน:น้ำ 1:4 ตามที่แนะนำข้างขวดแล้ว เฮลซ์บลูบอย 1 ขวด จะชงได้มากถึง 7.1 แก้ว ตกแก้วละ 7.5 บาท (ไม่นับรวมน้ำแข็ง ซึ่งถ้าใส่น้ำแข็งไปด้วย ก็อาจชงได้จำนวนแก้วมากกว่านี้)
เฮลซ์บลูบอย ไม่จำเป็นต้องทำการตลาดมากมาย เพราะ “ลูกค้า” คือคนที่ทำการตลาดให้เฮลซ์บลูบอยเอง ทั้งการบอกต่อแบบปากต่อปาก หรือการนำเฮลซ์บลูบอย ไปรังสรรค์สารพัดเมนูขนมหวาน เพราะการที่มี เฮลซ์บลูบอยอยู่ในชื่อ จะเป็นตัวช่วยการันตีความอร่อย ให้กับขนมเมนูนั้นๆ เช่นกัน
แม้รสชาติยอดนิยมสูงสุด ที่เราพบเห็นได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชว์ห่วย จะมี 3 รสคือ สละ(แดง) ครีมโซดา(เขียว) และ มะลิ (ใสออกเหลือง)
แต่เฮลซ์บลูบอย มีมากถึง 9 รสชาติด้วยกัน คือ
กลิ่นสละ
กลิ่นครีมโซดา
กลิ่นมะลิ
กลิ่นสตรอเบอร์รี
กลิ่นกุหลาบ
กลิ่นองุ่น
กลิ่นสับปะรด
กลิ่นแคนตาลูป
กลิ่นซาสี่
นอกจากนี้ ยังจัดจำหน่ายน้ำตาลก้อนสำหรับใส่ในเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ “เฮลซ์บลูบอย” ขนาด 500 กรัม และ 1,000 กรัม ด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ