ภายในปีหน้า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีส้ม และชมพู ก็จะพร้อมให้บริการประชาชนชาวกรุงเทพ-ปริมณฑล หลังจากสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อแต่ละมุมเมืองเข้าไว้ด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และลดปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ทีมข่าว Spotlight รวบรวม เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสี เหลือง ส้ม ชมพู พร้อมชวนมาดูความเคลื่อนไหว ว่าสายไหนกำลังจะเปิดให้เราได้นั่งกัน ในปี 2566 ที่จะถึงนี้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตรรวม 23 สถานี มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง
1. ลาดพร้าว
2. ภาวนา
3. โชคชัย 4
4. ลาดพร้าว 71
5. ลาดพร้าว 83
6. มหาดไทย
7. ลาดพร้าว 101
8. บางกะปิ
9. แยกลำสาลี
10. ศรีกรีฑา
11. หัวหมาก
12. กลันตัน
13. ศรีนุช
14. ศรีนครินทร์ 38
15. สวนหลวง ร.9
16. ศรีอุดม
17. ศรีเอี่ยม
18. ศรีลาซาล
19. ศรีแบริ่ง
20. ศรีด่าน
21. ศรีเทพา
22. ทิพวัล
23. สำโรง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง
หลังจากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์
1. บางขุนนนท์
2. ศิริราช
3. สนามหลวง
4. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
5. หลานหลวง
6. ยมราช
7. ราชเทวี
8. ประตูน้ำ
9. ราชปรารภ
10. รางน้ำ
11. ดินแดง
12. ประชาสงเคราะห์
13. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
14. รฟม.
15. วัดพระราม ๙
16. รามคำแหง 12
17. ม.รามคำแหง
18. กกท.
19. รามคำแหง 34
20. แยกลำสาลี
21. ศรีบูรพา
22. คลองบ้านม้า
23. สัมมากร
24. น้อมเกล้า
25. ราษฎร์พัฒนา
26. มีนพัฒนา
27. เคหะรามคำแหง
28. มีนบุรี
โครงสร้างสถานีเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ส่วนใหญ่มีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ชั้นที่ 2 และชั้นชานชาลาอยู่ชั้นที่ 3 ก่อสร้างอยู่เหนือพื้นที่ผิวจราจรของถนนสายหลัก โดยมีทั้งสิ้น 30 สถานี
1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) สถานีนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีบนถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี
2. สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้แยกแคราย ฝั่งทิศตะวันออกเป็นโรงพยาบาลโรคทรวงอก และฝั่งตะวันตกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 11 และ 13
3. สถานีสนามบินน้ำ สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับแยกสนามบินน้ำ ฝั่งทิศตะวันออกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 38 และ 40 และฝั่งตะวันตกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 27 และ 29
4. สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ระหว่างซอยสามัคคีกับคลองบางตลาดโดยสถานีจะตั้งอยู่ก่อนถึงสะพานข้ามคลองบางตลาด
5. สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ อยู่ระหว่างโรงเรียนชลประทานวิทยา และวิทยาลัยการชลประทาน ใกล้กับซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 4
6. สถานีปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของห้าแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสนามฟุตบอล Feel So Good
7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนถึงทางแยกตัดกับถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยด้านทิศใต้ของสถานีเป็นโฮมโปรและด้านทิศเหนือเป็นบริษัท ไทยการ์เมนต์ เอ็กซปอร์ต
8. สถานีแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 28 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะโดยทิศใต้ของสถานีเป็นบริเวณแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 28 และด้านทิศเหนือเป็นบริเวณแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 19 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาแจ้งวัฒนะ
9. สถานีเมืองทองธานี อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ด้านทิศเหนือของสถานีตั้งอยู่บริเวณระหว่างแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 35 และทางด่วนศรีรัช ในด้านทิศใต้อยู่ระหว่างโรงเรียนคลองเกลือและแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 32
10. สถานีศรีรัช อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตจังหวัดนนทบุรี ถัดจากทางด่วนศรีรัช โดยทางทิศใต้ของสถานีเป็นห้าง makro แจ้งวัฒนะ ระหว่างแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 38 และ 40
11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยด้านทิศเหนือของสถานีอยู่บริเวณระหว่างห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแจ้งวัฒนะและแจ้งวัฒนะ ซอย 14 (ซอยเมืองทอง 1) ใกล้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแจ้งวัฒนะ และในด้านทิศใต้อยู่ใกล้ซอยคุณวิเวียน
12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสถานี และหน้ากองร้อยลาดตระเวนระยะไกลกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
13. สถานีทีโอที อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในด้านทิศใต้ และหน้าอาคาร ณ นคร ในด้านทิศเหนือ
14. สถานีหลักสี่ อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะบริเวณฝั่งตะวันออกของถนนวิภาวดีรังสิต (ฝั่งขาเข้า) โดยด้านทิศเหนือของสถานีอยู่ริมถนนบนพื้นที่หมวดการทางหลักสี่ กรมทางหลวงระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตและแจ้งวัฒนะ ซอย 8 ซึ่งสถานีนี้สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ด้วยทางเดินยกระดับแบบลอยฟ้า (Skywalk)
15. สถานีราชภัฎพระนคร อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ หน้า Max Value supermarket และบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครฝั่งด้านติดคลองถนน
16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่)ได้โดยตรง
17. สถานีรามอินทรา 3 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณนี้จะรองรับพื้นที่พักอาศัยขนาดใหญ่ช่วงรามอินทราซอย 3 และ ซอย 5 และตั้งอยู่ด้านหน้าคอนโดมิเนียมลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ซึ่งอยู่ในด้านทิศเหนือของสถานี
18. สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณรามอินทรา ซอย 23 ในด้านทิศเหนือ และรามอินทรา ซอย 4/3 ในด้านทิศใต้
19. สถานีรามอินทรา 31 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณระหว่างรามอินทรา ซอย 33 และซอย 37 ในด้านทิศเหนือของสถานี และระหว่างรามอินทรา ซอย 8 และซอย 10 ในด้านทิศใต้ของสถานี
20. สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 41ในด้านทิศเหนือ และ ช่วงรามอินทรา ซอย 18 ในด้านทิศใต้ ใกล้กับรามอินทรา ซอย 14 (ซอยมัยลาภ)
21. สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช ช่วงบริเวณรามอินทรา ซอย 57/1 และ ซอย 59
22. สถานีรามอินทรา 40 อยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทรา ซอย 40 และ 42 ซึ่งอยู่ในด้านทิศใต้ของสถานี และมีปั๊มน้ำมัน Esso ในด้านทิศเหนือของสถานี
23. สถานีคู้บอน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 69 และซอย 46
24. สถานีรามอินทรา 83 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทราซอย 83 และ 85 ในด้านทิศเหนือ และมีลานจอดรถและรามอินทรา ซอย 54 อยู่ด้านทิศใต้ของสถานี
25. สถานีวงแหวนตะวันออก ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ซึ่งมีห้างแฟชั่นไอส์แลนด์และ The Promenade อยู่ด้านทิศเหนือของสถานี
26. สถานีนพรัตนราชธานี ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงซอยสวนสยามในด้านทิศใต้ของสถานี ถัดมาจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเล็กน้อย
27. สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณระหว่างรามอินทรา ซอย 113 และ ซอย 115 ในด้านทิศเหนือของสถานี และใกล้กับรามอินทราซอย 109 (ซอยพระยาสุเรนทร์)
28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างปั๊มน้ำมัน ปตท. และรามอินทรา ซอย 123 ในด้านทิศเหนือของสถานี ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
29. สถานีตลาดมีนบุรี เป็นสถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ต่อเนื่องมาจากถนนรามอินทรา ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2 ในด้านทิศเหนือ และระหว่างสีหบุรานุกิจ ซอย 16 และซอย 18 ในด้านทิศใต้ของสถานี
30. สถานีมีนบุรี เป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีมีนบุรีตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บนพื้นที่ว่างระหว่างรามคำแหง ซอย 192 และคลองสองต้นนุ่น ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นโรงจอดรถไฟฟ้าสายสีชมพู ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร และเป็นสถานีที่สามารถเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มได้โดยตรง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และ 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงาน โดยโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีแผนสำหรับการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งจะเริ่มภายในเดือนตุลาคม 2565 ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้ง 2 เส้นทางในปี 2566
นายอนุชา กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน 95.94% เร็วกว่าแผน 0.24%
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน งานโยธา 94.99% งานระบบรถไฟฟ้า M&E มีความก้าวหน้า 93.99% ความก้าวหน้าโดยรวม 94.56%
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน งานโยธา 91.74% งานระบบรถไฟฟ้า M&E มีความก้าวหน้า 89.39% ความก้าวหน้าโดยรวม 90.55%
"รัฐบาลได้ส่งเสริมและผลักดันให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งเป็นการรองรับการขยายตัวของเมือง และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น" นายอนุชา กล่าว
พร้อมระบุว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกโครงการ รัฐบาลได้กำชับให้มีการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ และเร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในอีกไม่นานนี้ รัฐบาลยังได้เน้นเรื่องการควบคุมสถานที่ก่อสร้างให้มีผลกระทบต่อการจราจรในปัจจุบันให้น้อยที่สุด และคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่สัญจรด้วยเป็นสำคัญ