กลุ่มโอเปกพลัสมีมติลดการผลิตน้ำมันมากสุดในรอบ 2 ปี หวังพยุงราคา ล่าสุดน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งทันที เกือบ 2 ดอลลาร์ จับตาราคาน้ำมันแพงอีกครั้ง
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (Opec+) ได้เสร็จสิ้นการประชุมแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน พ.ย.
การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว เป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของโอเปกพลัสนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
สมาชิกโอเปกพลัสจัดการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ก่อนหน้านี้ โอเปกพลัสมีมติลดกำลังการผลิต 100,000 บาร์เรล/วันในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด
นอกจากนี้ โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. รวมทั้งเพิ่มการผลิต 648,000 บาร์เรล/วันทั้งในเดือนก.ค.และส.ค. ก่อนที่จะเพิ่มการผลิตเพียง 100,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ย.
การดึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้สูงขึ้น เป็นเป้าหมายของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซึ่งผลักดันโดยพี่ใหญ่ในกลุ่มอย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ซาอุดีฯ ต้องการให้น้ำมันดิบกลับมาทรงตัวอยู่อย่างมีเสถียรภาพ เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องถึงประมาณ 25% เมื่อเทียบกับระดับราคาสูงสุดในเดือนมิถุนายน
ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดสหรัฐ ปรับตัวขึ้นเกือบ 2 ดอลลาร์ ไปอยู่เหนือระดับ 88 ดอลลาร์/บาร์เรล ระหว่างการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน ที่ขยับขึ้นเกือบ 2 ดอลลาร์ ไปทะลุ 93 ดอลลาร์/บาร์เรล ระหว่างการซื้อขายเช่นกัน
การประชุมโอเปกพลัส ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565
โอเปกคือใคร ทำไมจึงมีอำนาจควบคุมราคาน้ำมันโลก?
‘โอเปก’ (OPEC) หรือชื่อเต็มคือ The Organization of Petroleum Exporting Countries คือ องค์กรของประเทศผู้ส่งออกนำมันที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1960 โดย 5 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกคือซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก คูเวต และ เวเนซุเอลา
ปัจจุบันมีสมาชิก 13 ประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา คือ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก คูเวต เวเนซุเอลา อัลจีเรีย แองโกลา อิเควทอเรียลกีเนีย กาบง คูเวต ไนจีเรีย คองโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งหมดผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 30% หรือคิดเป็นปริมาณ 28 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ควบคุมแหล่งน้ำมันสำรองกว่า 80.4% ของโลก หรือราว 1.24 ล้านล้านบาร์เรล ทำให้โอเปกเป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจสูงมากในการควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลก และสามารถทำตัวเป็น ‘Oil Supply Swing Producer’ ที่สามารถรวมตัวกัน ‘ลด’ หรือ ‘เพิ่ม’ ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดได้อย่างรวดเร็ว
และสามารถดันราคาน้ำมันให้ ‘แพง’ ขึ้น ด้วยการ ‘ลด’ การผลิตและส่งออกน้ำมันลง และในทางกลับกันก็สามารถกดราคาให้ ‘ต่ำ’ ลงได้ ด้วยการ ‘เพิ่ม’ การผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานของกลไกตลาด
โดยอิทธิพลของโอเปกที่มีต่อราคาน้ำมันก็เห็นได้ง่ายๆ จากการที่ราคาน้ำมันมักจะปรับตัวขึ้นสูงทันทีเสมอหากมีการคาดการณ์ว่า ประเทศกลุ่มโอเปกกำลังจะประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน อย่างที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า 3% ทันทีก่อนการประชุมของกลุ่มโอเปกที่มีขึ้นในช่วงกลางคืนวันที่ 5 ตุลาคม ตามเวลาในไทย
ทำให้ถึงแม้จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของการก่อตั้งโอเปกจะเป็นไปเพื่อควบคุมไม่ให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแข่งกันผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้จนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอในอัตราที่เร็วเกินไป และทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำจนไม่คุ้มกับการขุดเจาะ โอเปกก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่าเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อ ‘ผูกขาดการค้า’ และมุ่งทำผลกำไรสูงสุดให้ประเทศสมาชิก
โอเปกไม่ได้มีอำนาจควบคุมราคาเบ็ดเสร็จเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศกลุ่มโอเปกจะมีอิทธิพลสูงพอสมควรในการควบคุมราคาน้ำมัน อย่างก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาก็มีบางเหตุการณ์ที่สะท้อนว่า โอเปกไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดราคาน้ำมันเสมอไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Shale oil หรือน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ที่นำโดยสหรัฐและแคนาดา
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกเช่น ความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่ม OPEC และ ผู้ส่งออกน้ำมันกลุ่ม Non-OPEC หรือสภาพเศรษฐกิจของโลกในขณะนั้นที่มักจะส่งผลต่อระดับอุปสงค์และระดับราคาของน้ำมันดิบในขณะนั้นเสมอ
ดังที่จะเห็นได้จากวิกฤติราคาน้ำมันในปี 2008 ที่ราคาน้ำมันถูกดันขึ้นจนแตะ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคมด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งกำลังการผลิตที่ลดลงทั้งในประเทศ OPEC และ Non-OPEC จากสงครามในประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นมากในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ก่อนจะทิ้งดิ่งลงมาที่ 41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคมปีเดียวกันหลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกเกิดชะงัก และดันให้อุปสงค์น้ำมันดิบลดลงอย่างรวดเร็ว
หรือจะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงมากในช่วงปี 2016 โดยลดลงไปถึง 26.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมกราคม เพราะผู้ส่งออกน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกแข่งกันผลิตน้ำมันดิบออกมาจนอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันระหว่างโอเปก กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่เป็นผู้ผลิตน้ำมัน Shale oil
ประกอบกับการที่หลายๆ ประเทศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหลังบรรลุข้อตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนมกราคม ทำให้อิหร่านกลับไปส่งออกน้ำมันในปริมาณสูงได้โดยไม่สนใจซาอุดิอาระเบีย
ซึ่งสิ่งที่เห็นได้จากเหตุการณ์นี้คือ นอกจากประเทศส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกแล้ว ในบางครั้งโอเปกยังไม่มีอำนาจในการควบคุมในประเทศกลุ่มเดียวกัน เพราะการกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันในแต่ละรอบการประชุมเป็นเพียง ‘ข้อตกลงร่วมกัน’ เท่านั้น ไม่ใช่สัญญาที่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย ทำให้ในทางปฏิบัติแต่ละประเทศสามารถผลิตน้ำมันมากหรือน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ก็ได้หากจะทำ
รัสเซียเข้าร่วมกลุ่มโอเปกพลัส ในปี 2016 ในยุคอดีตรัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โนวัค และอดีตรัฐมนตรีพลังงานซาอุฯ คาห์ลิด อัล ฟาลีห์ ซึ่งเป็น 2 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกน้ำมันในขณะนั้น
กำเนิด ‘โอเปกพลัส’ ดึง 'รัสเซีย' เพิ่มอำนาจกำหนดราคา
ด้วยความที่วิกฤตราคาน้ำมันตกในปี 2016 ชี้ให้เห็นปัญหาแล้วว่าลำพังความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเอเปกยังไม่เพียงพอในการควบคุมราคาน้ำมัน โอเปกจึงเริ่มมองหาพันธมิตรประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจในการรักษาน้ำมันจนสามารถตั้งกลุ่ม ‘โอเปกพลัส’ (OPEC+) ได้ในปีเดียวกัน
ปัจจุบันกลุ่มโอเปกพลัสประกอบไปด้วย 13 ประเทศสมาชิกโอเปก และอีก 10 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน คือ อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน มาเลเซีย เม็กซิโก บรูไน โอมาน บาห์เรน ซูดานใต้ ซูดาน และ ‘รัสเซีย’ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก
ซึ่งเมื่อไปรวมกับปริมาณส่งออกน้ำมันของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว กลุ่มโอเปกพลัสก็กินสัดส่วนการส่งออกน้ำมันดิบในโลกไปกว่า 40% ทำให้ปัจจุบันโอเปกพลัสเป็นกลุ่มที่มีอำนาจสูงมากในการควบคุมราคาน้ำมันแบบยากที่จะมีใครงัดข้อได้
โดยสาเหตุที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงจนเกิดวิกฤตค่าพลังงานในตอนนี้ สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะประเทศในกลุ่มโอเปกพลัสร่วมมือกันควบคุมปริมาณการส่งออกน้ำมันให้อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียของประเทศยุโรป ที่ทำให้ทั้งโลกวิตกว่าความขัดแย้งนี้จะทำให้อุปทานน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอีกในอนาคต