Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เฉลย! ทำไมราคาน้ำมันไทย  ต้องอ้างอิงตลาดสิงคโปร์?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เฉลย! ทำไมราคาน้ำมันไทย ต้องอ้างอิงตลาดสิงคโปร์?

7 ก.พ. 68
09:00 น.
|
267
แชร์

นอกจากโครงการใหญ่อย่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์แล้ว อีกหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เกี่ยวพันกับปากท้องเราโดยตรง ก็คือนโยบายปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดราคาน้ำมัน

โดยเฉพาะการเปลี่ยนการกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น จากเดิมที่อ้างอิงจากราคาตลาดสิงคโปร์ มาเป็นระบบ Cost–Plus ที่กำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตจริง

โดยไม่นานมานี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ TDRI ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลใช้ระบบ Cost-Plus ส่งผลให้หุ้นโรงกลั่นหลายตัวปรับลดลง เพราะระบบใหม่จะทำให้โรงกลั่นขายน้ำมันได้ในราคาต่ำลง

ราคาตลาดสิงคโปร์คืออะไร?ทำไมราคาน้ำมันไทยต้องอิงกับราคาน้ำมันกลั่นสิงคโปร์? และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบ Cost-Plus แล้วจะทำให้เราได้ใช้น้ำมันถูกลงจริงหรือไม่? SPOTLIGHT พามาหาคำตอบ 

ก่อนไปดูว่าราคาตลาดสิงคโปร์คืออะไร เราคงต้องมาผ่าดูโครงสร้างราคาน้ำมันไทยในปัจจุบันก่อนว่ามีอะไรบ้าง และราคาอ้างอิงอยู่ตรงไหนในสมการนี้

โครงสร้างของราคาน้ำมันขายปลีกประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก 

ปัจจุบัน ราคาน้ำมันแต่ละลิตรในไทย ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลักๆ

ส่วนแรก ที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด ก็คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน หรือต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่น รวมถึงโรงกลั่นในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันเราใช้ราคาอ้างอิงจากราคาในตลาดสิงคโปร์ และคิดเป็น 40-60% ของราคาน้ำมันหนึ่งลิตร

สอง ภาษีต่างๆ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และ VAT

สาม เงินเข้ากองทุนต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

สี่ ค่าการตลาด หรือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดยน้ำมันแต่ละประเภทจะมีค่าการตลาดที่เหมาะสมไม่เท่ากัน และถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.

จากโครงสร้างนี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน ราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ ก็คือราคาเนื้อน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของราคาน้ำมันไทยที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้

แต่มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะเกิดคำถามแล้วว่า ในเมื่อมันเป็นน้ำมันที่กลั่น และขายในประเทศไทย ทำไมเราต้องอ้างอิงราคาน้ำมันที่กลั่นในประเทศกับราคาน้ำมันที่กลั่นในตลาดสิงคโปร์ล่ะ

ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์นี้ ไม่ใช่ราคาที่โรงกลั่นสิงคโปร์ หรือหน่วยงานในสิงคโปร์ตั้งเอาเองแต่อย่างใด แต่เป็น “ราคาซื้อขายกลางในภูมิภาค”

เพราะสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในอาเซียนที่มีผู้ซื้อขายอยู่หลายร้อยราย ทำให้ราคานี้ถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ปรับขึ้นลงตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบในโลก และสอดคล้องกับราคาเนื้อน้ำมันในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย สามารถใช้เป็นราคากลางได้

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาอ้างอิงจากสิงคโปร์จะเป็นราคาที่มีเสถียรภาพสูง บางฝ่ายก็มองว่าการอ้างอิงราคาเนื้อน้ำมันจากสิงคโปร์นั้นทำให้ราคาน้ำมันในไทยสูงเกินจริง เพราะราคานี้มีการบวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัยการเดินทาง และค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ที่น้ำมันที่กลั่นในไทยไม่มีต้นทุนนี้เข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดส่วนต่างราคาน้ำมัน เพราะถึงไทยจะสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศที่ราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงสิงคโปร์เข้ามาได้ ราคาเนื้อน้ำมันก็จะอิงกับสิงคโปร์อยู่ดี  ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากต้นทุนจริงที่ต่ำลง

โดยจากการศึกษาของ TDRI หากไทยเปลี่ยนการกำหนดราคาเนื้อน้ำมันจากเดิมที่อ้างอิงจากราคาตลาดสิงคโปร์ มาเป็นระบบ Cost–Plus ที่กำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตจริงของโรงกลั่นไทย ราคาน้ำมันในไทยจะถูกลงได้กว่า 1 บาทต่อลิตรเลยทีเดียว

จุดอ่อนของการเปลี่ยนมาเป็นระบบ Cost–Plus 

แต่ถึงการเปลี่ยนการคิดราคาเนื้อน้ำมันจะทำให้ราคาน้ำมันในไทยถูกลงได้จริง แนวคิดนี้ก็มีช่องโหว่อยู่หลายข้อ

ข้อแรกคือ การกำหนดราคาน้ำมันตามต้นทุนจริงทำได้ยาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตของโรงกลั่นแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และปัจจุบันยังไม่มีกลไกในการกำหนดราคากลางในประเทศที่มีประสิทธิภาพ

ข้อสองคือ การที่ราคาลดต่ำลงอาจทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการผลิต หรือเลือกส่งออกน้ำมันราคาถูกไปค้ากำไรในต่างประเทศมากกว่าที่จะขายให้ผู้ค้าในประเทศ หากไม่มีการบังคับกำหนดโควตาส่งออกของโรงกลั่น

ข้อสามคือ ราคาน้ำมันกลั่นในไทยอาจสูงกว่าสิงค์โปร์ได้ เพราะสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นมากกว่า ทำให้ราคาต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าตามหลักการ และไม่ต้องสำรองน้ำมัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตเมื่อยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น จนราคาน้ำมันดิบลดต่ำลง ราคาน้ำมันกลั่นในไทยมีแนวโน้มสูงที่จะราคาสูงกว่าราคากลั่นในสิงคโปร์ และราคากลางในต่างประเทศ

นอกจากนี้ การลดราคาเนื้อน้ำมันยังไม่ใช่หนทางเดียวในการลดราคาน้ำมัน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจลดต้นทุนราคาขายปลีกน้้ำมันในส่วนอื่นได้ เช่น ลดการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ลดมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ลดลง กระทบถึงเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ดังนั้น การเปลี่ยนโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันในไทยจึงเป็นเรื่องซับซ้อน และต้องพิจารณาถึงหลายๆ ปัจจัยประกอบกันเพื่อลดผลเสียที่จะเกิดขึ้น

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหากมีกลไกกำหนดราคาต้นทุนในประเทศที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการเสริมเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันได้จริง ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ในไทยก็จะได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ต่ำลงภายในประเทศอย่างมหาศาล เพราะราคาพลังงานที่ต่ำลง เท่ากับต้นทุนการผลิตที่ลดลง และเท่ากับศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น

แชร์
เฉลย! ทำไมราคาน้ำมันไทย  ต้องอ้างอิงตลาดสิงคโปร์?