ไทยหวังฟื้นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก FTAAP ในงาน APEC 2022 พาณิชย์ - ก.ต. นั่งหัวโต๊ะ ลุ้นผลพร้อมกันช่วงเย็นวันนี้
นอกจาก BCG และ Soft Power จะเป็น 2 คำที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุดในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปค 2022 (APEC 2022) กันแล้ว อีกหนึ่งคำที่กำลังมาและทำให้หลายคนสงสัยก็คือคำว่า "FTAAP" (อ่านว่า เอฟ-แทป)
แต่ก่อนจะไปลงลึกกันเรื่อง FTAAP เรามาเกริ่นกันเรื่องคำย่อทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ที่เป็นหัวใจหลักในข่าวเอเปคช่วงนี้กันก่อน
BCG ก็คือ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่อิงเทรนด์เศรษฐกิจโลก B = Bio economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) C = Circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) G = Green economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ทั้งหมดนี้ล้อไปกับเทรนด์เศรษฐกิจโลกที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
Soft Power ก็คือ พลังหรืออิทธิพลที่ไม่ต้องบังคับข่มขู่ด้วยการทหารหรืออำนาจเงินฟาดหัว แต่ทำให้ประเทศอื่นนิยมชมชอบเราโดยสมัครใจ เอาเราไปพูดถึงในทางที่ดี และสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตามมา เช่น อาหารไทย มวยไทย นวดแผนไทย งานฝีมือ และอีกหลายเรื่องที่เป็นจุดเด่นของไทย ซึ่งถูกแฝงไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้
ประเทศไทยเราในฐานะเจ้าภาพเอเปค กำลังผลักดันให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปควันที่ 19 พ.ย. นี้ รับรอง "เป้าหมายกรุงเทพฯ" (Bangkok Goals) หรือเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หลังเกิดโควิด-19 ให้มีความครอบคลุมและยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลก ที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นท้าทาย
FTFAAP คือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรืออาจเรียกสั้นๆ ได้ว่าเป็น "เอฟทีเอ-เอเปค" จะมีสมาชิกเป็น 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค คิดเป็นสัดส่วนจีดีพี ประมาณ 60% ของโลก
FTAAP หรือเอฟ-แทป ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยมีการพูดถึงกันมานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ในยุคที่ทั่วโลกมุ่งแสวงหาข้อตกลงการค้าเสรี FTA ทั้งแบบพหุภาคี (หลายประเทศ) และแบบทวิภาคี (2 ประเทศ) หลังจากที่การประชุมการค้าโลกหยุดชะงักมาตั้งแต่รอบโดฮา แต่ FTAAP ก็ไม่เคยไปถึงฝั่ง เพราะถูกตัดตอนไปที่เอฟทีเอฉบับอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะ "TPP" (ชื่อใหม่คือ CPTPP และไม่มีสหรัฐ) กับ "RCEP" (มีหัวเรือหลักคือ จีน)
แม้แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังเคยเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า หลายคนคงสงสัยว่า FTAAP นั้น เป็นเพียงแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ของเอเปค หรือว่าอาจกลายเป็นรายการฝันที่เป็นจริง (เหมือนอดีตรายการทางโทรทัศน์ของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์) กันแน่
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า FTA เคยเป็นแผนสำรอง หรือ Plan B ในกรณีที่การค้าโลกรอบโดฮาล้มเหลว (ล้มเหลวลงแล้ว) แต่ที่ผ่านมา เอเปคยังไม่ได้แสดงการสนับสนุนอย่างชัดเจนในชั้นนี้ เอเปคจึงได้ตกลงกันเพียงแค่จัดทำการศึกษาในเรื่องการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึง "ความเป็นไปได้ในการจัดทำ" FTAAP เท่านั้น
ประเด็นก็คือ แม้ปัจจุบันเราจะมีข้อตกลง FTA มากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะ RCEP ที่มีสมาชิก 15 เขตเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจีดีพีโลก และได้ชื่อว่าเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้
แต่จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เคยมี FTA กับ "สหรัฐอเมริกา" เกิดขึ้นเลยแม้แต่ฉบับเดียว
ความหวังที่ประเทศไทยของเราและอาเซียนจะเจาะตลาดอเมริกา ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกนั้น ล่มสลายลงในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลง TPP เพื่อที่สหรัฐจะมุ่งทำข้อตกลงการค้าแนวทวิภาคี หรือแค่ไม่กี่ประเทศ เพื่อใช้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า (จะได้ไม่ถูกประเทศเล็กๆ รวมกลุ่มกันสร้างอำนาจต่อรอง)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ยกผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคือ งานศึกษาของเกาหลีใต้ ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ ว่า ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่า เป็นหนึ่งในนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปค โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (open regionalism)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปคยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (political will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปค รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง regional trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปคอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น
ปัจจุบัน สมาชิกเอเปคกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปคและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่างๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปค (เช่น การเข้าถึงตลาด, กฎแหล่งกำเนิดสินค้า, กระบวนการทางศุลกากร และกำแพงการค้าทั้งที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นต้น)
ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคแบบเต็มคณะวันนี้ (17 พ.ย. 2565) โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทยนำเสนอแผนงานขับเคลื่อน FTAAP ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมตลาดที่มีประชากร 2,800 ล้านคน มี GDP คิดเป็นสัดส่วน 59% ของโลก ในขณะที่สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค แบ่งเป็นการค้าในเอเปค 69.8% และการค้านอกเอเปค 30.2%
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค กล่าวว่า มีการริเริ่มผลักดัน FTAAP มาตั้งแต่แรกเริ่มแต่ยังไม่คืบหน้า ซึ่งไทยในฐานะประธานได้ชูประเด็นนี้ เพื่อทบทวนอีกครั้ง พร้อมวางแผนการทำงานในอนาคตไว้รองรับ เพื่อให้แต่ละเขตเศรษฐกิจต้องดำเนินการให้เกิดเขตการค้าเสรีได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่จะมีการประชุมในวันที่ 18-19 พ.ย.2565
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เบื้องต้นแผนงานขับเคลื่อน FTAAP มีระยะเวลา 4 ปีคือ ระหว่างปี 2566-2569 มีเป้าหมายตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม
ผลของที่ประชุมในวันนี้จะออกเป็น "ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค" แต่หากการประชุมไม่ได้ข้อยุติ จะออกเป็น "ถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปค" แทน ซึ่งกระทรวงการต่าประเทศได้เตรียมร่างเอกสารไว้ทั้ง 2 แนวทาง
ทั้งนี้ นายดอนและนายจุรินทร์ มีกำหนดแถลงข่าวผลสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในเวลา 17.45-18.00 น. ซึ่งต้องจับตาว่าผลประชุมจะออกมาอย่างไร รวมถึงการแถลงข่าวของฝั่งสหรัฐในช่วงค่ำวันเดียวกัน ที่นำโดย แอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และ แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ด้วย
หากมีแนวโน้มที่ดีแม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่คุ้มค่าต่อการฝันถึงเช่นกัน