สำหรับใครที่รอคอย ‘คนละครึ่งเฟส 6’ เป็นของขวัญวันปีใหม่อยู่ ในวันนี้อาจต้องผิดหวังแล้ว เมื่อ รมว.คลัง ออกมากล่าวว่า มาตรการคนละครึ่งที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป หลังพบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวดีจากการเปิดประเทศ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Enhancing Economic Performance for Thailand Competitiveness : ฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่ จ.อุบลราชธานี โดยในตอนหนึ่งระบุว่า เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากการฟื้นตัวของการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวหลังผ่อนคลายการเปิดประเทศ
โดยในปีนี้ รมว. คลังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวมประมาณถึง 10 ล้านคนในปี 2022 และเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในปี 2023 เพราะคาดว่าจีนจะเปิดประเทศ
จากการเติบโตในภาคส่วนการท่องเที่ยว และการบริโภคโดยรวมนี้ ภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เร็วขึ้นอีกในในปีถัดไปในอัตรา 3.5-4% ในขณะที่ภาคการส่งออกจะขยายตัวได้ 3-5%
ทำให้รมว.คลัง มองว่า ขณะนี้รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยแล้ว เพราะหลังจากเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ อัตราการใช้จ่ายในประเทศเริ่มคึกคัก ประกอบกับมีต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทย ทำให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การฟื้นตัวและการประมาณการณ์ด้านเศรษฐกิจของปีหน้าจะดูค่อนข้างสดใส ในอีกด้านหนึ่งจากการวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การฟื้นตัวของไทยก็มีจุดอ่อนสำคัญคือยังไม่ทั่วถึง เพราะประชาชนกลุ่มเปราะบางส่วนยังได้รับผลกระทบจากรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดจากช่วงโควิด-19 เพราะมีการเปลี่ยนงาน เงินเดือนลดลง รายได้น้อยลง
ดังนั้นในอนาคต แทนที่จะมุ่งช่วยเหลือประชาชนแบบกว้างๆ รัฐบาลจะเน้นการช่วยเหลือที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด เช่น การจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินและสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบกิจการได้ ส่วนภาคธุรกิจนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องของการฝ่าเรื่องเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมองว่าแรงต้านในปี 2023 ค่อนข้างสูง
ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ จะเร่งเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งให้ภาคเอกชน โดยประเมินว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 8-10 ปี คิดเป็นมูลค่า 5 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นกำลังแรงส่งนอกเหนือจากการบริโภคภายในประเทศ สำหรับด้านการส่งออกนั้น คาดว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 8% โดยอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทที่อ่อนค่า
ส่วนมาตรการของขวัญปีใหม่ 2023 ให้กับประชาชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยว และมีความเป็นไปได้ที่อาจมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะมีผลในปีหน้า
ที่มา: Infoquest