ในช่วงนี้ ข่าวหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเคยได้เห็นหรือได้ยินกันบ้างก็คือข่าววิกฤตภาคการธนาคาร ที่เริ่มต้นจากการล้มละลายของ Silicon Valley Bank มาจนถึงปัญหาการเงินของธนาคาร ‘เครดิตสวิส’ ที่ถึงแม้จะมีธนาคารคู่แข่งใหญ่เข้าไปอุ้มไม่ให้ล้มละลายแล้วก็ยังสร้างปัญหาไม่หยุดด้วยปัญหาตราสาร AT1
และในทุกข่าว ตัวละครหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทมากในทุกข่าวการธนาคารในตอนนี้ก็คือ ‘ธนาคารกลาง’ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Federal Reserve) และธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) ที่มีบทบาททั้งในฐานะตัวการที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการธนาคารขึ้น และผู้ช่วยเหลือที่เป็นที่ปรึกษา และให้เงินสนับสนุนกับธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธนาคารกลางจะเป็นองค์กรที่ทุกคนน่าจะต้องได้ยินชื่อกันอยู่แล้ว หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าธนาคารกลางคืออะไร มีจุดกำเนิดมาจากไหน และมีอำนาจหน้าที่ทำอะไรกันแน่ วันนี้ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน
ธนาคารกลางมีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 300 กว่าปีก่อน โดยธนาคารแห่งแรกที่เรียกได้ว่าเป็นธนาคารกลาง ก็คือธนาคารกลางของประเทศสวีเดน หรือที่เรียกว่า Sveriges Riksbank ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1668 เพื่อรับซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือเรียกง่ายๆ ก็คือให้เงินกู้กับรัฐบาล และทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการชำระราคาการซื้อขายระหว่างสวีเดนและประเทศอื่นๆ
หลังจากระบบการค้าและการเงินมีพัฒนาการจนซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ต่างก็ทยอยตั้งธนาคารกลางของตัวเองขึ้นเพื่อดูแลระบบการเงินในประเทศไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางอังกฤษ (ฺBank of England) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1694 เพื่อให้เงินกู้กับรัฐบาลผ่านการซื้อพันธบัตร และธนาคารกลางฝรั่งเศส (Banque de France) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1800 เพื่อดูแลสมดุลค่าเงิน และดูแลปัญหาเงินเฟ้อในช่วงที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้น กล่าวโดยสรุปแล้วองค์กรที่เรียกว่า ‘ธนาคารกลาง’ หรือ ‘แบงก์ชาติ’ นี้ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงิน หรือช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับมหภาค หรือในระดับชาติเป็นหลัก และจะไม่ลงมาเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ถึงแม้นโยบายและการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจะส่งผลต่อคนทั้งประเทศนั้นๆ โดยตรง รวมไปถึงประชาชนในประเทศอื่นๆ ในทางอ้อมก็ตาม
ธนาคารกลางของทุกประเทศในปัจจุบันมีหน้าที่คล้ายกันคือทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักที่คอยดูแลเสถียรภาพทางการเงินของแต่ละประเทศ โดยการออกนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดูแลอุตสาหกรรมการธนาคารในประเทศ ออกกฎควบคุมสถาบันการเงินในประเทศ และให้เงินช่วยเหลือในกรณีที่ธนาคารภายในประเทศเกิดปัญหา
เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางจะทำงานกับหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการเงินเป็นหลัก และจะไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาทำธุรกรรมการเงินด้วย เช่น การรับฝากเงิน ถอนเงิน หรือปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อยอย่างที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปทำ โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางมีอำนาจหน้าที่หลักๆ ใน 5 ด้านด้วยกันคือ
ในปัจจุบัน เกือบทุกประเทศในโลกมีธนาคารกลางเป็นของตัวเอง โดยธนาคารกลางที่ใหม่ที่สุดก็คือ ธนาคารกลางของประเทศ ติมอร์ เลสเต ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีอำนาจหน้าที่คล้ายกัน ขนาดของธนาคารกลางแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างล้อกันไปกับขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยจากข้อมูลของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWFI หากนับจากทรัพย์สินในการดูแล ซึ่งสำหรับธนาคารกลางส่วนใหญ่หมายถึงเงินสำรองระหว่างประเทศ และเงินฝากสำรองจากธนาคารอื่นๆ ในประเทศ ธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับ คือ
โดยในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) อยู่ในอันดับที่ 28 ด้วยทรัพย์สินทั้งหมด 8.7 ล้านล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่บางคนเรียกกันว่าแบงก์ชาติถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1942 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่หลัก คือ กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน, ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร, เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล, เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน, จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน, กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน