KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่าแม้ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวจากโควิดได้ค่อนข้างดีที่ในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้ แต่ตัวเลขการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นและเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ อาจบดบังปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนโควิด
โดยในช่วงที่ผ่านมาในปี 2022 นักท่องเที่ยวกลับมาได้ 11.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 28% ของปี 2019 แต่โครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง ขณะที่ในปี 2023 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 29.7 ล้านคน (74.5% ของปี 2019) จากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าภาคท่องเที่ยวอาจไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยไปได้ตลอด จำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นความท้าทายในการเติบโตระยะยาว ควบคู่กับการหาเครื่องยนต์เสริมตัวใหม่ให้กับเศรษฐกิจ
KKP Research ประเมินว่าภาคท่องเที่ยวไทยในระยะยาวมีข้อจำกัดที่อาจเรียกว่าเป็น Long-COVID ที่อาจแสดงอาการออกมาเรื่อย ๆ และจำเป็นต้องได้รับการดูแล หากต้องการสร้างให้ภาคการท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ข้อจำกัดดังกล่าว ได้แก่
แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังเจอกับความท้าทายหลายอย่าง แต่ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพหากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จากทั้ง โอกาสในการเติบโต ความเชื่อมโยงกับมูลค่าเพิ่มในประเทศที่สูง สร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มีสัดส่วนการจ้างงานสูง และเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ โดย KKP Research ประเมินว่า 5 แนวทางสำคัญที่จะช่วยต่อยอดการท่องเที่ยวจากปัจจุบันได้ คือ
1) เพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพในภาคการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาทักษะแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล
2) สานต่อห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำไปสู่ผลคูณทวีต่อระบบเศรษฐกิจ (multiplier effects) ที่สูงขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อกับภาคเศรษฐกิจอื่นให้มากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ภาคการเกษตร
3) ลดการกระจุก สร้างแรงดึงดูดให้การท่องเที่ยวกระจายออกจากจังหวัดท่องเที่ยวหลักมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยให้การเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ
4)ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล การมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน การสร้างความตระหนักรู้ให้กับทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว มีมาตรฐานกฎเกณฑ์รวมถึงการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย
5)พัฒนาศักยภาพของประเทศด้านอื่นด้วย จากข้อมูลจะพบว่าประเทศอื่นที่ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการพัฒนาศักยภาพในด้านอื่น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ถึงแม้ไทยจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวที่สมดุลได้ตามแนวทางข้างต้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านอื่นควบคู่ไปด้วย หากจะนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างแท้จริง
การพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในภาคการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มทั้งมูลค่าและความยั่งยืนในการเติบโตระยะยาว โดยหากไทยสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทย พร้อมกับเชื่อมโยงการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ KKP Research ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อีกกว่า 4.6% ของ GDP หรือคิดเทียบเท่าจำนวนนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าด้วย
การเติบโตที่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่ผ่านมาไม่ควรจะเป็นคำตอบสุดท้ายของเป้าหมายความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยว กลยุทธ์การเติบโตที่ยั่งยืนจะเป็นต้องสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและสมดุล ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับคนในประเทศให้ได้มากที่สุด จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้