สรุปตัวเลขสำคัญ :
อินโดนีเซีย: อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 6%
ไทย: อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.25%
ญี่ปุ่น : อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 0.25%
ญี่ปุ่น ไทยและอินโดนีเซียต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นการเติบโต ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศสาตร์โลกที่ยังคงกดดันในปีหน้า
จับกระแสดอกเบี้ยเอเชีย ไทย-อินโดฯ-ญี่ปุ่น คงหรือลง? เมื่อเศรษฐกิจกดดัน
ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้กำหนดนโยบายการเงินของเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัปดาห์นี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ชะลอตัวและแรงกดดันจากภายนอก
อินโดนีเซียมุ่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์
ในอินโดนีเซีย ค่าเงินรูปีห์อ่อนค่าลงกว่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง Q3 ที่ผ่านมา จนแตะระดับ 16,000 รูปีห์ต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ต้องเข้าแทรกแซงตลาดเงินอย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจโดย Bloomberg นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า BI จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 6% ในการประชุมวันพุธนี้
เพอร์รี่ วระจีโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ย้ำว่า
“เราจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ชั่วคราว เพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน”
นักวิเคราะห์จาก Citigroup มองว่า BI มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกในปีหน้า แต่คาดว่าการผ่อนคลายจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมมากกว่าจะเกิดในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยังคงใช้มาตรการเสริม เช่น การออกพันธบัตรรูปีห์ (SRBI) ที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ไทยคงดอกเบี้ย เน้นนโยบายการเงินที่แข็งแกร่ง
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% แม้รัฐบาลจะกดดันให้ปรับลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1%-3% มานานถึง 6 เดือน
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ BOT เน้นย้ำว่า นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังคง แข็งแกร่งและยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
“เราจะตัดสินใจบนพื้นฐานของแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้อิงกับข้อมูลระยะสั้นเท่านั้น”
ขณะที่รัฐบาล โดย พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ลดดอกเบี้ยลงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและลดภาระหนี้สินของผู้กู้
และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือน
ญี่ปุ่นรอดูแนวโน้มค่าจ้าง-ทิศทางนโยบายสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ (19 ธ.ค.) เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นรอสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มของค่าจ้างและการใช้จ่ายในประเทศ และจับตานโยบายต่าง ๆ ของสหรัฐฯ หลังรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.ปีหน้า หลังจากธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. และส่งสัญาญาณถึงความพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก
โดย นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปอาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นไปตามคาด”
บทสรุป: แรงกดดันจากภายนอกยังเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกเหนือจากปัญหาภายในประเทศ ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น ความไม่แน่นอนทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับธนาคารกลางในเอเชีย การคงอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า
สรุปตัวเลขสำคัญ :
อินโดนีเซีย: อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 6%
ไทย: อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.25%
ญี่ปุ่น : อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 0.25%
ทั้งญี่ปุ่น ไทยและอินโดนีเซียต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นการเติบโต ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศสาตร์โลกที่ยังคงกดดันในปีหน้า