Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต้นทุนธุรกิจสุงขึ้นราว 2% ภาคเกษตรกระทบมากสุด
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต้นทุนธุรกิจสุงขึ้นราว 2% ภาคเกษตรกระทบมากสุด

25 ธ.ค. 67
12:26 น.
|
302
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 มาอยู่ที่เฉลี่ย 355 บาท/วัน จะทำให้ต้นทุนแรงงานของธุรกิจเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2%
  • ธุรกิจกลุ่มที่มีการใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูงน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร ก่อสร้าง โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีก-ค้าส่ง และการผลิต 

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไฟเขียวการปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ที่ได้มีมติเอกฉันท์ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ยปรับขึ้นร้อยละ 2.9) โดยแบ่งเป็น 17 อัตรา ต่ำสุด 337 บาท/วัน สูงสูง 400 บาท/วัน โดยพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ มีผล 1 ม.ค. 2568  

ค่าแรงขั้นต่ำ 2568

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ น่าจะทำให้ต้นทุนแรงงานของธุรกิจปรับเพิ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2% (กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่) และอาจกระทบมาร์จิ้นธุรกิจให้ลดลง ท่ามกลางปัจจัยด้านเศรษฐกจิที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งเรื่องกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระดับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจแตกต่างกันไป ดังนี้

 ต้นทุนธุรกิจกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแค่ไหน ?

1. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคาดว่าจะกระทบภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะน้อยในสัดส่วนสูงเนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มักจะจ่ายค่าจ้างอิงตามค่าจ้างขั้นต่ำ(น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน)โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร (76% ของการจ้างงานทั้งหมด) โรงแรมและร้านอาหาร (46%) ก่อสร้าง(46%) การผลิต (36%) และค้าปลีก-ค้าส่ง (35%)  

อย่างไรก็ดี ผลสุทธิของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนอกเหนือจากการมีสัดส่วนการใช้แรงงานที่อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำสูงแล้ว คงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสร้างรายได้และบริหารจัดการต้นทุน การปรับราคาขายสินค้าและบริการรวมถึงความสามารถในการปรับตัว เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบการ SMEs จากการกระจายความเสี่ยงด้านต้นทุนสามารถทำได้ดีกว่า รวมถึงธุรกิจการผลิตอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสามารถปรับไปใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้คล่องตัวกว่าภาคบริการหรือภาคเกษตร เป็นต้น

2.มิติด้านพื้นที่การปรับเพิ่มค่าจ้างรอบนี้ตั้งแต่ 7-55 บาท ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานของแต่ละจังหวัดจะเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากอาจมีต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงกว่ากิจการประเภทเดียวกันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างอำเภอเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขยับขึ้นมากที่สุดถึง 15% รวมถึงอำเภอเมือง (เชียงใหม่) และอำเภอหาดใหญ่ (สงขลา) ที่ปรับเพิ่ม 9-10% จากอัตราเดิม

ส่วนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง แม้จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8-14% จากอัตราเดิม แต่คาดว่าผลกระทบอาจจำกัดในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ EEC เนื่องจากปัจจุบันกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มักจะเป็นธุรกิจผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีการจ้างงานแรงงานวิชาชีพที่มีระดับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำสะท้อนจากค่าจ้างสำหรับแรงงานระดับ ปวส. และอนุปริญญาเฉลี่ย อยู่ที่ 20,368 บาท/เดือน

รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีทุ่นแรงอย่างระบบ Automation/ Robotics ทำให้ธุรกิจผลิตในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย

เทียบต้นทุนค่าแรงธุรกิจไทยกับเพื่อนบ้าน

เทียบต้นทุนค่าแรงไทยกับเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันต้นทุนแรงงานของไทยสูงกว่าบางประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เช่นอินโดนีเซียและเวียดนาม ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged Society) เร็วกว่าหลายประเทศในอาเซียน อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่า ทำให้ในระยะข้างหน้าการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของไทย จำเป็นต้องอาศัยทักษะแรงงานมีฝีมือและปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆ เป็นหลัก

แชร์
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต้นทุนธุรกิจสุงขึ้นราว 2% ภาคเกษตรกระทบมากสุด