โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.นี้ สิ่งที่ทั่วโลกจับตามองคือ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะดุเดือดทันทีหรือไม่? เพราะนี่คือความเสี่ยงที่ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบไปทั่วโลก รวมถึงไทยที่มีคู่ค้าหลักเป็นทั้งจีนและสหรัฐฯ
แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2567 ที่ผ่านมาจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้คือ 5% แต่ประเด็นสงครามการค้าที่กำลังจะปะทุรุนแรงในปี 2568 เป็นต้นไป กำลังกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า จะทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้อาจไม่ได้เติบโตได้ราบรื่นอย่างที่คิด ซึ่งดูเหมือนทางการจีนก็ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้พอสมควรแล้ว ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมา เน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภค หรือ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศให้มากขึ้น หวังไปทดแทนภาคการค้าระหว่างประเทศที่อาจถูกกระทบจากภาษีทรัมป์
1.ผลสุทธิจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะยังส่งผลให้การส่งออกจีนปี 2568 เติบโตได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง หลังสงครามการค้าในปี 2561 โครงสร้างการส่งออกจีนพึ่งพาสหรัฐฯ ลดลง ในปี 2561 สัดส่วนการส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 20% ลดลงมาอยู่ที่ราว 15% ในปี 2566 ขณะที่การส่งออกจีนไปสหรัฐฯต่อ GDP ปรับลดลงจาก 3.8% ในปี 2561 มาอยู่ที่ราว 3.0% ในปี 2566
2.การฟื้นตัวของภาคปัญหาอสังหาริมทรัพย์คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่าอีก 1 ปี
โดยระดับราคาและยอดขายที่อยู่อาศัยคาดยังมีแนวโน้มชะลอลง แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากผลของมาตรการสนับสนุนอสังหาริมทรัพย์ที่ทางการจีนทยอยออกมาตั้งแต่ปี 2567 และคาดมีต่อเนื่องมาในปี 2568
3.ความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดสูงขึ้น อุปสงค์ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ระดับราคายังได้รับปัจจัยกดดันจากปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินมีมากขึ้นจากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2568 แต่ขนาดของมาตรการคาดไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและครัวเรือนได้
ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 ทางการจีนได้พยายามยับยั้งภาวะถดถอยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย และประกาศแผนการคลัง 5 ปี มูลค่า 10 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อบรรเทาวิกฤตทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยใช้ 2 แรงประสานคือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง
นักวิเคราะห์จากโนมูระ เสนอว่าจีนควรปรับนโยบายการคลังและการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้น แก้ไขวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ปฏิรูประบบภาษีและสวัสดิการ และลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่หากรัฐบาลจีนยังทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ไปที่การอัปเกรดอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานแทนที่จะช่วยครัวเรือน ก็อาจนำไปสู่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน การบริโภคที่อ่อนแอ และแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น
แม้เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายในปี 2567 ที่ 5% แต่ในปี 2568 นี้ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่แก้ไม่จบ ขณะที่ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ส่อเค้าวุ่นวายหนักทันทีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 100 วันแรกของทรัมป์จะเป็นอย่างไร โลกกำลังจับตา