ต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของหลายประเทศโดย เพราะจำนวนประชากรจีนที่มีมากนับพันล้านคน หากเพียงแค่ 1% หรือ 100 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว โดยรายงานของ China Trading Desk ประเมินว่า ในปี 2024 ที่ผ่านมาอาจมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศราว 128 ล้านคนซึ่งน้อยกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดที่มีชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 155 ล้านคน แม้ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่ฟื้นตัวได้เท่าเดิม แต่ก็มีการประเมินว่าอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า หรือ ปี2028 นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศสูงได้ถึง 200 ล้านคนเลยทีเดียว
สำหรับในปี 2567 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวประเทศไทยราว 6.7 ล้านคนถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เที่ยวไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ก็ยังไม่เท่ากับตอนก่อนโควิดระบาดในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนสูงถึง 11.1 ล้านคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานวิเคราะห์ปี 2568 นักท่องเที่ยวจีนอาจเข้าไทย 7.5 ล้านคน หรือเท่ากับนักท่องเที่ยวจีนกลับมา 68% ของจำนวนที่เคยเข้าไทยในปี 2562 แต่มองว่าการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ง่ายอย่างที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว5อันดับแรกที่คนจีนเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดก็ตาม
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงวันที่ 1-19 มกราคม 2568 ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว 3.5 แสนคนเติบโตประมาณ 14.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือมาตรการวีซ่าฟรีและแรงหนุนจากการที่ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
โดยราคาเฉลี่ยแพ็คเกจจากจีนมาเที่ยวไทยอยู่ที่ประมาณกว่า 2000 หยวน ถูกกว่าการไปเที่ยวเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นที่จะมีราคาเฉลี่ยแพ็คเกจประมาณ 3000 หยวน ขณะที่เวียดนามถือเป็นคู่แข่งที่น่าสนใจของไทย เพราะราคาเฉลี่ยแพ็คเกจท่องเที่ยวจากจีนไปเวียดนามถูกกว่าไทยเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามในภาพรวมปี 2568 ก็ถือว่านักท่องเที่ยวจีนยังเติบโตสูงขึ้นกว่าในปี 2567 แน่นอน แต่การจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ถึง 10 ล้านคนเหมือนก่อนโควิดระบาดศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเทศไทยมีความท้าทาย 4 เรื่องหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวจีน
1.ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย เป็นประเด็นที่ทางการไทยควรเร่งฟื้นความเชื่อมั่นในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาว
2.เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า กำลังซื้อชาวจีนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัวและค่าเงินหยวนที่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าทำให้ปี 2568 ทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีนอาจยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิดและคนจีนจะมีการเปรียบเทียบจุดหมายปลายทางที่สอดคล้องกับงบประมาณ ซึ่งอาจมีผลต่อการเดินทางมาเที่ยวไทยโดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนจะมีอัตราการฟื้นตัวนักท่องเที่ยวจีนดีกว่าไทยที่มีค่าเงินแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน
โดยในปี 2567 เงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าเงินหยวน 3.3% ส่วนนับจากต้นปี 2568 เงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าเงินหยวน 1.2% แตกต่างจากญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่ากว่าเงินหยวน 6.3% ในปี 2567 และเกาหลีใต้เงินวอนอ่อนค่ากว่าเงินหยวน 9.5%
3. การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่สูง สะท้อนได้จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในหลายประเทศดีกว่าไทยและในปี 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงกว่าไทยแล้ว โดยญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไป 6.98 ล้านคน
โดยในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศก็ใช้นโยบายวีซ่าฟรีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนข้อมูลจาก VISA Index พบว่ามี 44 ประเทศที่คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่าและ 36 ประเทศที่สามารถขอวีซ่าได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางสะดวกและมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น
4.การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไปความต้องการที่หลากหลาย ประกอบกับสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ทำให้การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ใช่เรื่องง่าย
เทรนด์สำคัญเช่นการเดินทางท่องเที่ยวเองหรือกรุ๊ปทัวร์ขนาดเล็กซึ่งมีความคล่องตัวในการท่องเที่ยว ระยะเวลาในการตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 1 เดือนมองหาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ระหว่างท่องเที่ยว อย่างแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสและวัฒนธรรมสะท้อนได้จากการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรอง อย่างจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวกาตาร์เติบโตกว่าปี 62 หรือสายการบินระหว่างจีนกับประเทศที่มีจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวรองเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลของ Dragon Trial พบว่าการจองทริปหรือการค้นหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวจีนมีความหลากหลายและแนวโน้มไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เร่งปรับตัวในการตอบโจทย์ตามความต้องการของเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆหลังโควิดที่เปลี่ยนไป และไม่เพียงแต่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เราให้ความสำคัญเท่านั้น ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกหลายชาติที่เราควรศึกษาพฤติกรรมและนำจุดแข็งที่สำคัญทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามรวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามอีกมากมายเป็นการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่จะสร้างความประทับใจการเที่ยวประเทศไทยได้แน่นอน