ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนอื่นต้องไปดูที่ รายได้ และ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคมที่เป็นกองทุนหลักกันก่อน
- ปี 2564 รายได้ 237,600 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย -27,900 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 254,000 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย -30,000 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 293,000 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 31,200 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ช่วงหลังมานี้ประกันสังคมมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท และเพิ่งพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปีล่าสุด
คำถามคือแล้วสาเหตุการขาดทุนในปีก่อน ๆ มันมาจากอะไร ?
ถ้าจะตอบคำถามนี้ ก็ต้องมาดูที่โครงสร้างรายได้ และ ค่าใช้จ่าย ของประกันสังคมกันก่อน
โครงสร้างรายได้แบ่งตามสัดส่วน
- เงินสมทบผู้ประกันตน 79.2%
- ดอกเบี้ย เงินปันผล จากการลงทุน 19.8%
- อื่น ๆ 1%
โครงสร้างค่าใช้จ่ายแบ่งตามสัดส่วน
- ค่าประโยชน์ทดแทน 51%
- ประมาณการหนี้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 41%
- อื่น ๆ 8%
จะเห็นได้ว่ารายได้หลักของประกันสังคมก็คือ เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายกันทุกเดือน
ส่วนค่าใช้จ่ายหลัก ๆ แล้วก็มาจากสิทธิที่ผู้ประกันตนเบิก และ ประมาณการหนี้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพซึ่งเป็นเงินบำเหน็จ บำนาญ ที่เราจะได้ตอนเกษียณอายุ
กลับมาที่เรื่องเดิมกันต่อ สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมประกันสังคมถึงขาดทุน เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นประเด็น
สาเหตุหลักก็มาจากรายได้ที่ลดลงจากมาตรการปรับลดอัตราเงินสมทบจากวิกฤติโรคระบาดจาก 5% ของค่าจ้าง เป็น 3% ของค่าจ้าง
ซึ่งพอเรื่องนี้รวมกับ ค่าใช้จ่ายเรื่องสิทธิประโยชน์ และ ค่าใช้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ที่ประกันสังคมต้องแบกไปทุกปี ก็เลยทำให้ประกันสังคม มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ถึงขั้นมีข่าวว่า ประกันสังคมจะล้มละลายจนต้องมีการออกมาชี้แจงเมื่อปีที่ผ่านมา
แต่พอมาตรการตรงนี้หมดลงรายได้ของประกันสังคมก็กลับมามากกว่ารายจ่ายอย่างที่เราเห็นตอนนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วประกันสังคมยังมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่ปีก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากมาตรการพิเศษ
ซึ่งก็ค้านความเชื่อที่ว่าประกันสังคมบริหารได้ไม่ดีจนขาดทุน
แต่ถ้าว่ากันในระยะยาว ตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเจอกับภาวะที่คนมีลูกน้อยลง ส่งผลกับจำนวนแรงงานที่จะเข้ามาจ่ายเงินสมทบในอนาคต
เพื่อแบกผู้สูงอายุที่จะรับประโยชน์ทดแทนต่อไป นั่นจึงตามมาด้วยการปรับเพดานเงินสมทบอย่างที่เราเห็นกันตอนนี้นั่นเอง
ดังนั้นปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยจะต้องจ่ายเพิ่มเป็นขั้นบันได ตามนี้
ปี 2569-2571 สูงสุด 17,500 บาท จ่ายสูงสุด 875 บาทต่อเดือน
ปี 2572-2574 สูงสุด 20,000 บาท จ่ายสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน
ปี 2575 เป็นต้นไป สูงสุด 23,000 บาท จ่ายสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน
ที่มา: hfocus.org, sso.go.th