ข้อมูลภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือและการส่ง SMS ในปี 2567 จาก Whoscall แอปพลิเคชันป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัลส่วนบุคคล พบว่า สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้ถึง 168 ล้านครั้ง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย นายแมนวู จู ยอมรับว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานประจำปีตั้งแต่ปี 63 การหลอกลวงของมิจฉาชีพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกๆตลาดหลักที่ Whoscall ให้บริการอย่างใกล้ชิด
สำหรับประเทศไทยที่ในปี 67 มีโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงสูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้งเพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 66 จำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 66 (เพิ่มขึ้น 85%) กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้
ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 66 (เพิ่มขึ้น 123%) ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัล วอลเล็ต
สาเหตุสำคัญเพราะปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตา มีทั้งการแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
รายงานประจำปีของ Whoscall เปิดเผยถึงปัญหาการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ "ID Security" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ และในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็นอีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย
สำหรับข้อมูลในรายงานครั้งนี้ทางบริษัท โกโกลุก ประเทศไทย จะส่งไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และสร้างสรรค์แคมเปญการสื่อสารให้แก่ประชาชนต่อไป
ที่มา : Whoscall