แม้อิสราเอลจะเป็นประเทศที่ต้องเจอกับปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคงแต่ประเทศเล็กๆในตะวันออกกลางแห่งนี้กลับมีสภาวะเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือเห็นได้จาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ปี2022 เติบโตสูงถึง 6.5% ขณะที่ ไตรมาส 2 ปีนี้ GDP ขยายตัว 3.0% โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตหลัก เพิ่มขึ้น 1.9% ในไตรมาสที่สอง หลังจากลดลง 1.4% ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.6%
บรรดาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลกต่างเพิ่มการเข้ามาลงทุนในอิสราเอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น Microsoft Google Apple ได้ขยายการลงทุนด้าน R&Dในอิสราเอล รวมถึงส่วนของเอเชียมีนักลงทุนทั้งจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็เข้ามาลงทุนด้วยเช่นเดียวกัน
ความสามารถของบุคคลากรอิสราเอลก็นับว่าเก่งระดับโลก เพราะอิสราเอลให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาคน เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีศูนย์ R&D มากกว่า 350 แห่ง และอิสราเอลจำนวน Startupใหญ่ที่สุดในโลกในอีกด้วย ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไฮเทคในอิสราเอลมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของการจ้างงานและคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิสราเอล
สภาพเศรษฐกิจของอิสราเอลที่ค่อนข้างดีจึงเป็นเหตุผลให้แรงงานไทยจำนวนมาก ที่ล่าสุดเกือบ 3 หมื่นคนเข้าไปทำงานในอิสราเอล ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานของไทยพบว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่คนไทยเข้าไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน
เมือง SOUTHERN (HADAROM) ( เขตใต้ ) เป็นเมืองที่มีแรงงานไทยมากที่สุด ราว 12,600 คน รองลงมา CENTRAL (HAMERKAZ) ( เขตกลาง ) 5,849 คน NORTHERN (HAZAFON) ( เขตเหนือ ) อีก 3,865 คน และยังมีกระจายอยู่ทั่วประเทศอิสราเอล
ส่วนใหญ่กว่า 20,000 คนทางกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งไป โดยคนไทยในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือมีจำนวนการเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากสุด เช่น คนจังหวัดอุดรธานี เชียงราย นครราชสีมา ขณะที่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่คือ เป็นคนงานภาคเกษตร
แม้ว่าภาคเกษตรกรรมอาจจะไม่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลมากนัก แต่กลุ่มเกษตรกรซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองสูงและนโยบายการกลืนกินดินแดน ด้วยการตั้งชุมชนเกษตร (moshav หรือ kibbutz) ในพื้นที่พิพาทกับปาเลสไตน์ ทําให้รัฐบาลต้องให้ความสําคัญกับการพัฒนาระบบการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของอิสราเอลเป็นพื้นที่แห้งแล้งและเป็นทะเลทรายที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก และมีแหล่งน้ําจืดตามธรรมชาติอยู่น้อย อิสราเอลจึงมีความจําเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการชลประทาน เพื่อให้ประเทศสามารถทําการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้
อิสราเอลจึงได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการชลประทานจนประสบความสําเร็จ โดยอิสราเอลมีความสามารถในการแปลงน้ําทะเลเป็นน้ําจืดเพื่อการอุปโภค (desalination) การนําน้ําเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สําหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม การมีระบบท่อส่งน้ําทั้งจากแหล่งน้ําจืดธรรมชาติและโรงงานผลิตน้ําจืดไปยังส่วนต่างๆ ของ
ประเทศ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูกแบบระบบน้ําหยด ส่วนสินค้าเกษตรของอิสราเอล มีทั้งผัก ผลไม้ ดอกไม้ และพืชไร่เป็นต้น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานการณ์ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไป โดยมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผลทางตรงน่าจะจำกัด อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร) ไม่ใช่กลุ่มท่องเที่ยวสำคัญ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ แม้มีแรงงานไทยไปทำงานส่งรายได้เข้าประเทศมาก แต่ยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่สุด น่าจะรองไต้หวัน อาจต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ (และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วยครับ) ด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก
"ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง อิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมัน อีกทั้งประเทศรอบข้างอย่างจอร์แดนก็ไม่ได้มีน้ำมันมาก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไปอิหร่านหรือซาอุดีอาระเบียมากกว่า (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล) หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยุโรป แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบเช่นคลอง Suez และ supply chain disruption กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์) ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง ทองก็ขึ้นตาม ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งเพราะเป็น safe haven"
ดร.อมรเทพ ระบุว่า สิ่งที่กังวลคือ ตลาดทุนน่าจะมาจากบอนด์ยิลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ยังขึ้น จนเกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง บาทเลยอ่อนได้อีก และที่ยิลด์ขึ้นน่าจะมาจากข่าววันศุกร์ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐยังเพิ่ม แม้อัตราว่างงานจะคงที่ 3.8% และอัตราเพิ่มของค่าจ้างจะเริ่มชะลอที่ +0.2%จากเดือนก่อน แต่ยังห่วงว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ CME Fed watch มองโอกาสขึ้นเพิ่มไปมากกว่า 20%แล้ว และหากราคาน้ำมันเพิ่มยาว ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงก็มี
“สรุป ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอลจะยืดเยื้อและลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ บาทอ่อน ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน หนี้เพิ่มไปอีก น่าหาทางใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ"
ที่มา
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/c23a367857463e4187250c94f9bde29c.pdf
https://www.reuters.com/world/middle-east/israels-gdp-grows-more-than-expected-q2-2023-08-16/
https://innovationisrael.org.il/en/contentpage/innovation-israel
https://lookerstudio.google.com/reporting/89607282-a4c6-4a0c-b6e9-a2934c16d885/page/p_rawnmuf5lc?s=n2uNLXtX4d0%E2%80%8B&fbclid=IwAR3kD9Fy3RWJlI4xxXPxnUTQmviFPgeRHLknbaqesLa-3TphZDdoHtgfuSk_aem_AVgtKrogUHKosEOyBqxrvFE1Q_WZxgKsalb4VhRXE_wqQu8StNVmKKhWYLitoy85OE8&mibextid=Zxz2cZ
VDO ที่เกี่ยวข้อง