SCB EIC เผยรายงานวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามอิสราเอล-ฮามาสต่อเศรษฐกิจไทย ชี้มีสงครามเสี่ยงลุกลามกลายไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคต่ำ เบื้องต้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อย เพราะทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของไทย และไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
รายงาน SCB EIC ประเมินว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก แต่ต้องระวังความเสี่ยงสงครามขยายวงกว้าง เพราะสงครามครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อโลกผ่านหลายช่องทาง ทั้งในด้านมูลค่าความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศที่ทำสงคราม รวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น
โดย SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของสงครามนี้ต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ภายในปี 2024 ตาม 3 ฉากทัศน์ ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 (กรณีฐาน): สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นนอกพื้นที่สองประเทศนี้บ้าง ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ยังต้องการให้เกิดความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงไม่สนับสนุนให้เกิดสงครามในวงกว้างขึ้น
ในกรณีนี้เศรษฐกิจอิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่จะไม่มีนัยต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย
นอกจากนี้ อิสราเอลยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก โดยสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 5,977 บาร์เรล/วัน (0.06% ของปริมาณการผลิตน้ำมันโลก) จึงเน้นนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ในกรณีฐานราคาน้ำมันโลกอาจเพิ่มขึ้นบ้างในระยะสั้นตามความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะปรับลดลงสู่ระดับปกติ ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด (75%) แต่จะส่งผลกระทบไม่มากต่อเศรษฐกิจโลก
ฉากทัศน์ที่ 2: อิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) ในกรณีนี้ความรุนแรงกระจายไปบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น โดยเฉพาะซีเรียและเลบานอนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสสู้รบอิสราเอลโดยตรง ขณะที่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสทางอ้อมพร้อมขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันหลักราว 20% ของโลก
ภาวะสงครามที่ขยายวงกว้างจะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มเป็น 86.8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +4.6% อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก (20%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.2 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.17 pp
ฉากทัศน์ที่ 3: อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) ในกรณีนี้อิหร่านเข้าร่วมสงครามสู้รบอิสราเอลโดยตรง ความรุนแรงกระจายไปในภูมิภาค อาจมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตน้ำมันในภูมิภาคได้ โดยอิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ และอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างฝั่งสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล และฝั่งจีนกับรัสเซียที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่าน ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 94.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +13.6% ทั้งยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเทียบเท่ากับระดับ VIX ที่เพิ่มขึ้น 8 จุด ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย (5%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.4 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.54 pp
SCB EIC ประเมินในกรณีที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก
(1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก
(2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่สูงนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
(3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์
(4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์
อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานสูงกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือราว 20% ของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ
ทั้งนี้ แม้สงครามมีโอกาสที่จะลุกลามกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคต่ำ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสลุกลาม โดยถ้าหากสงครามขยายวงกว้างรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งนี้จะกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหลายด้านผ่านราคาน้ำมันโลกที่จะเพิ่มขึ้นสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) โดยนำเข้าน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ต่อ GDP (ข้อมูลปี 2022)
SCB EIC ประเมินความอ่อนไหว (Sensitivity analysis) ของราคาน้ำมันโลกต่อเงินเฟ้อไทย พบว่า หากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น +10% จะส่งผลกระทบต่อราคาเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้นราว 0.42 pp โดยมีผลทางตรงทำให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน (Energy CPI) ที่มีสัดส่วนราว 12.4% ในตะกร้าเงินเฟ้อผู้บริโภคปรับสูงขึ้น +0.33 pp และจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาสินค้าอื่นในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมาก เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าเดินทาง จะปรับเพิ่มขึ้น +0.09 pp อีกด้วย
นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง กำลังซื้อครัวเรือนลดลง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงตามมา
อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า การบริโภคของครัวเรือนเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ดีขึ้นตามราคาน้ำมัน อาทิ ราคายางพารา (พืชทดแทนยางสังเคราะห์) อ้อย และปาล์มน้ำมัน (พืชพลังงาน) ซึ่งครัวเรือนเกษตรของไทยปลูกพืชทั้งสามชนิดนี้เป็นสัดส่วนราว 31% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด
โดยสรุปภาพรวมผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปี 2024 จะมีไม่มาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมถึงราคาน้ำมันโลกที่ไม่เปลี่ยนไปมากนัก
แต่หากสงครามเริ่มขยายวงกว้างเป็นฉากทัศน์ที่ 2 กรณีอิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp
ในกรณีเลวร้าย สงครามลุกลามในภูมิภาคกลายเป็นฉากทัศน์ที่ 3 อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงไม่มาก -0.85 pp แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นมากถึง +0.57 pp อย่างไรก็ดี ทั้งสองกรณีหลังยังมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่ต้องจับตาการลุกลามของสถานการณ์สงครามให้ดี และอาจเป็นชนวนเหตุให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นอกภูมิภาคเร่งตัวขึ้นได้