ซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอบริษัท เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากนอร์เวย์ ที่คนไทยรู้จักในนามของการเป็นซีอีโอต่างชาติของดีแทค หรือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ล่าสุดเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศแต่งตั้งให้ ซิกเว่ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์” รับผิดชอบการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขึ้นตรงกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2568 โดยในประกาศแต่งตั้งคุณซิกเว่ฉบับนี้ลงนามโดยคุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การเข้ามาของ คุณซิกเว่ เบรกเก้ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเครือซีพี ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของนายซิกเว่ จะสามารถนำพาเครือซีพีก้าวสู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สังคม และประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของนายซิกเว่ในตำแหน่งสำคัญนี้ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น
“ซีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า คุณซิกเว่ เบรกเก้ จะเข้ามาเป็นผู้นำคนสำคัญของเรา โดยดูแลรับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ผมรู้จักคุณซิกเว่มาหลายปีแล้ว มั่นใจว่าคุณซิกเว่มีประสบการณ์ระดับโลกในด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล” ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว
ทั้งนี้ เครือซีพีมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่กว้างขวางในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารระดับโลกของคุณซิกเว่ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ด้วยนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคต โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาคุณซิกเว่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบริหารโครงการระดับโลก และการสร้างพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเทศ
ด้านคุณซิกเว่ เบรกเก้ ระบุว่า “เครือซีพีได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมดิจิทัล และบริการทางการเงินมายาวนานกว่า 20 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่คุณศุภชัยเชิญให้มาร่วมพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภค องค์กร และสังคม ผมตั้งตารอที่จะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยและร่วมเดินหน้ากับทีมงานของเครือซีพี”
นอกจากนี้ คุณซิกเว่ ได้กล่าวย้ำต่อไปว่า “เครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับศักยภาพของบุคลากรในเครือซีพี เราจะสามารถผลักดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”
ซิกเว่ เบรกเก้ เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เคยดำรงตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์กรุ๊ปเป็นเวลา 9 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024 ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารและหัวหน้าภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคในประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งในกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ GSMA ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2024
สำหรับผู้ที่นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทเลนอร์ กรุ๊ป ต่อจากนายซิกเว่ คือ นางเบเนดิกต์ สกิลเบรด แฟสเมอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.67
สำหรับคุณซิกเว่ และเครือซีพีมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันจากดีลใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการโทรคมนาคมไทยเมื่อทรูและดีแทคประะกาศควบรวมกิจการกันมูลกว่าสองแสนล้านบาท โดยเครือซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู ส่วนกลุ่มเทเลนอร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะเครือข่ายโทรศัพท์มือถือลดจาก 3 รายเหลือเพียงแค่ 2 ราย นั่นคือเอไอเอส และ ทรู
อย่างไรก็ตามการควบรวมกิจการระหว่างทรู กับ ดีแทค เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการควบรวม (Combined enterprise value) และเป็นการควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างบริษัทจดทะเบียนไทยสองบริษัทเมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดรวม (Combined market capitalization) ซึ่งการควบรวมที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารภายในเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายของดีลใหญ่ในครั้งนี้