3 เดือนของสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยืดเยื้อและยังไม่มีทีท่าจะจบลง แม้ว่าต่างฝ่ายต่างได้รับความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และ ความสงบสุขในการดำรงชีพ และสะเทือนเศรษฐกิจของตัวเองและเศรษฐกิจโลก
'The Big Three' 3 แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯนั่นคือ แมคโดนัลด์ สตาร์บัค และดิสนีย์ พลัสกำลังถูกกระแสการต่อต้านแบรนด์ในพื้นที่ตะวันออกกลางจนเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากถูกมองว่าสนับสนุนแนวคิดของอิสราเอล บางแบรนด์ถึงขั้นถูกปล่อยข่าวปลอม จนต้องออกมาชี้แจงอยู่เป็นระยะ ซึ่งการใช้คำว่า 'The Big Three' เป็นการบ่งชี้ถึงเป้าหมายการบอยคอตแบรนด์สัญชาติอเมริกัน
SPOTLIGHT ชวนมาดู 3 แบรนด์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกา เหยื่อแห่งการคว่ำบาตรจากกรณีสงครามอิสราเอล – ฮามาส
แมคโดนัลด์ หนึ่งในเชนร้านฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ชื่อดังของสหรัฐ ได้ออกมายอมรับว่า ขณะนี้ แมคโดนัลด์หลายแห่งในตะวันออกกลาง และสาขาบางแห่งในภูมิภาคอื่นๆกำลังเผชิญผลกระทบธุรกิจอย่างหนัก จากสถานการณ์คว่ำบาตรของผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ จากการคว่ำบาตรที่เริ่มจากระดับรากหญ้าเพียงไม่กี่ประเทศ ก็เริ่มลุกลามออกไป
สาเหตุเกิดจากข่าวลือที่ว่า แมคโดนัลด์ในอิสราเอลได้ประกาศในบัญชีโซเชียลมีเดียของบริษัทว่า บริษัทได้แจกอาหารฟรีหลายพันชุดให้กับทหารอิสราเอล และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสู้รบกับกลุ่มฮามาส เมื่อเดือนต.ค.66 ที่ผ่านมา แม้ว่าเวลาต่อมา แฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ ได้ออกมาปฏิเสธการกล่าวอ้าง แต่ดูเหมือนจะสายเกินไป เมื่อความโกรธแค้นของประชาชนได้เริ่มลุกเป็นไฟ ขยายวงกว้างในอีกหลากหลายประเทศ เช่น ร้านแมคโดนัลด์ สาขาสตาร์ ซิตี ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ได้มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนชาวปาเลสไตน์นำหนูจำนวนมาก ทาสีเขียว ดำ ขาวและแดง ที่เป็นสีธงชาติปาเลสไตน์ ปล่อยเข้าไปในร้าน
ในขณะที่แมคโดนัลด์สาขาหนึ่งในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมี PT Rekso Nasional Food เป็นผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ ก็ได้ออกคำชี้แจงในลักษณะเดียวกัน พร้อมส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่า 1.5 พันล้านรูเปียห์ (3.5 ล้านบาท) ให้กับชาวปาเลสไตน์เมื่อพ.ย.66 ที่ผ่านมา
หรือแม้กระทั่งร้านแมคโดนัลด์ สาขาหนึ่งในประเทศอียิปต์ ได้ออกมาเปิดเผยว่ายอดขายของร้านเมื่อเดือนต.ค และ พ.ย.66 ได้ตกลงไปราว 70% เทียบกับผลประกอบการของช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน
Chris Kempczinski ผู้บริหารระดับสูงของแมคโดนัลด์ ได้ออกมากยอมรับผลกระทบจากการคว่ำบาตรในครั้งนี้ พร้อมกล่าวว่า แมคโดนัลด์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นการประกาศจากทางผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ในแต่ละประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมประณามความรุนแรง และความเกลียดชังทุกรูปแบบ
“เพราะในทุกประเทศที่แมคโดนัลด์ดำเนินธุรกิจ รวมถึงในประเทศมุสลิม แมคโดนัลด์ภาคภูมิใจที่มีตัวแทนเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นซึ่งทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้บริการและยกระดับชุมชนของตน ในขณะเดียวกันก็จ้างงานเพื่อนร่วมชาติจำนวนหลายพันคน"
ในปีงบการเงิน 65 แมคโดนัลด์ดำเนินการด้านแฟรนไชส์และร้านอาหารประมาณ 40,275 สาขาในกว่า 100 ประเทศ และมีรายได้ต่อปีรวมแตะ 2.318 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่มีสาขาเพียงแค่ 5% ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
อีกหนึ่งแบรนด์ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความเกลียดชัง นั้นก็คือ สตาร์บัคส์ ยักษ์ใหญ่แห่งเชนร้านกาแฟชื่อดังสัญชาติอเมริกัน
สตาร์บัคส์ ถูกทำให้เป็นประเด็นถกเถียงในตะวันออกกลาง เมื่อกลุ่มสหภาพแรงงานของสตาร์บัคส์ 9,000 คนจาก 360 สาขา ได้โพสข้อความหลังจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ว่า ‘ความเป็นปึกแผ่นกับปาเลสไตน์’ ในทวิตเตอร์ (X) และยังมีพนักงานสตาร์บัคส์บางกลุ่มได้หยุดงาน เพื่อร่วมเดินประท้วงตามท้องถนนเรียกร้องเสรีภาพจากสงครามอิสราเอล – ฮามาส
อย่างไรก็ตามซีอีโอของสตาร์บัคส์ Laxman Narasimhan ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องสันติภาพ และกล่าวโทษถึงการบิดเบือนความจริง ผ่านเว็บไซต์ของสตาร์บัคส์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา
แม้ว่าจดหมายจะไม่ได้กล่าวถึงชาติตะวันออกกลางอย่างชัดเจน แต่เนื้อหาและใจความสำคัญ ได้กล่าวถึง ความขัดแย้งในหลายส่วน ได้ก่อให้เกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง และการโกหก ในหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงฝั่งอเมริกาเหนือ ได้เห็นการประท้วงที่รุนแรงขึ้น ร้านสตาร์บัคส์ในหลากหลายแห่งได้เผชิญปัญหาการก่อกวน เพราะผู้ประท้วงเชื่อข้อมูลจากการบิดเบือนความจริงบนโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์ได้เน่นย้ำถึงจุดยืนของบริษัท นั้นก็คือเพื่อมนุษยชาติ แต่ก็ยังคงมีเนื้อหาที่คลุมเครือ ทำให้กระแสผู้วิพากษ์วิจารณ์สตาร์บัคส์ไม่ได้สงบลงแต่อย่างใด
สื่อสังคมออนไลน์บางส่วน รายงานว่า ผลจากการคว่ำบาตรและการหยุดงานประท้วง ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และราคาหุ้นของบริษัท ซึ่งลดลงกว่า 7 % แล้ว
ด้าน วอลท์ ดิสนีย์ บริษัทภาพยนตร์แอนิเมชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ทางออนไลน์ หลังจาก วอลท์ ดิสนีย์สนับสนุนทางการเงินให้แก่องค์กรของอิสราเอล
หลังจากสงครามในฉนวนกาซาเริ่มประทุขึ้นบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ได้ประกาศบริจาคเงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่องค์กรต่างๆเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอิสราเอล โดยแบ่งเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกบริจาคให้หน่วยบริการฉุกเฉินของอิสราเอล และเงินส่วนเหลือจะถูกแบ่งให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ
BoB Iger ซีอีโอ ของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์
ได้เปิดเผยข้อความที่ประณามความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ทั้งการทิ้งระเบิด คร่าชีวิตผู้คนอันบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อีกทั้งพร้อมช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ต้องประสบกับความเจ็บปวด และความรุนแรงท่ามกลางการพังทลายของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของซีอีโอ และบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ได้รับเสียงอันต่อต้านมากมายจากผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ และทำให้เกิดกระแส #BOYCOTTDISNEYPLUS เกิดขึ้น โดยผู้ใช้บริการดิสนีย์ พลัส รายหนึ่ง ได้กล่าวว่า “ฉันกำลังยกเลิกการสมัครสมาชิกแพลตฟอร์ม Disney+ เพราะฉันไม่สามารถจ่ายเงินสำหรับแพลตฟอร์มที่รองรับการสังหารพลเรือนและเด็กได้”
ผู้ใช้งานอีกรายหนึ่งได้กล่าวว่า “Disney กำลังมีส่วนร่วมในการก่ออาชญกรรมสงครามกับอิสราเอล โดยให้คำมั่นสัญญา 2 ล้านดอลลาร์”
จากกรณีศึกษา การเคลื่อนไหวของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ทำให้เราเห็นถึงความท้าทาย ในแง่ของความละเอียดอ่อนที่ซับซ้อน
แม้ว่าการแสดงท่าทีหรือจุดยืนต่อสถานการณ์ทางสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแบรนด์ แต่ระดับของความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องระมัดระวังในการพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง กับความขัดแย้ง
ในช่วงเวลาที่ไม่ปกติอย่างในภาวะสงคราม การเดิมพันของแบรนด์อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย หลายแบรนด์มักเลือกที่จะสะท้อนมุมมอง “ทั่วไป” อย่างการประณามการใช้ความรุนแรง หรือไม่ก็เลือกที่จะเงียบไม่ต้องแสดงท่าทีอะไรเลย หากสงครามนั้นมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเกินไป
อ้างอิง : ฺBBC