Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Citibank - HSBC ประเมิน GDP ไทยปีนี้โต 3.6-3.8%  เงินเฟ้อ 1.7% คาดแบงก์ชาติคงดอกเบี้ย 2.5% ถึงปี 2025
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

Citibank - HSBC ประเมิน GDP ไทยปีนี้โต 3.6-3.8% เงินเฟ้อ 1.7% คาดแบงก์ชาติคงดอกเบี้ย 2.5% ถึงปี 2025

19 ม.ค. 67
07:27 น.
|
958
แชร์

ธนาคาร Citibank และ HSBC เผยประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2024 ชี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตราว 3.6%-3.8% จากการบริโภคภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยว คาดเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ 1.7% และแบงก์ชาติจะคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ต่อไปจนถึงปี 2025

ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่คาด โดยมีปัจจัยหลักจากการที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา และทำให้ไทยได้รับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวต่ำกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งยังส่งออกสินค้าได้ลดลง ทั้งจากดีมานด์ในตลาดโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการที่จีนหันกลับไปใช้สินค้าหรือวัตถุดิบเพื่อผลิตภายในประเทศ ส่งผลให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้ลดลง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีขึ้นในปีนี้ เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นจากทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นอีกจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า

Citibank คาดปีนี้ GDP ไทยโต 3.6% ดอกเบี้ยสูงยาวถึงปี 2025

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะมีการเติบโตที่ราว 3.6% จากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจากต่างประเทศ 

ทั้งนี้ การคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ 3.6% นี้ไม่ได้รวมผลกระทบจากการใช้มาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สะท้อนว่าแม้จะไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล เศรษฐกิจไทยก็ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ในปีนี้ 

โดยนอกจากการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ซิตี้แบงก์ มองว่า ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวอยู่ที่ 3.3% จากปีก่อนหน้าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ไทยจะยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ด้านภาคการท่องเที่ยวก็จะยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ประเทศไทยราว 35.2 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 41 ล้านคนในปี 2025 จากมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางจากประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย และไต้หวัน

สำหรับนโยบายของรัฐบาล นางสาวนลิน กล่าวต่อว่า ในปีนี้และระยะปานกลางรัฐบาลมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยคาดว่าการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นหลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ งบประมาณปี 2024 โดยในขณะนี้ นักลงทุนยังต้องติดตามข้อสรุปของการอนุมัติร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคิดเป็น 2.8% ของ GDP

ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจมีมาตรการอื่นๆ ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณที่น้อยลงและมุ่งเน้นไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และด้วยการดำเนินมาตรการทางการคลังเชิงรุกดังกล่าว ซิตี้แบงก์คาดว่าจะไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี เพื่อลดระดับการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ให้กลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงก่อนช่วงโควิดที่ประมาณ 3.0% ของ GDP

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้จะยังอยู่ในระดับ 1-3% ในกรอบเป้าหมาย ที่ 1.7% ในปี 2024 และ 2.2% ในปี 2025 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อหลายเดือนที่ผ่านมาออกมาต่ำกว่าคาด ซิตี้แบงก์มองว่าในปีนี้ไทยยังคงมีความเสี่ยงขาขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ผลของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล 

ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรักษาดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% จนถึงปี 2025 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะเริ่มปรับดอกเบี้ยลงในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นจำนวน 5 ครั้ง ทั้งหมดประมาณ 125 basis points

HSBC มองโต 3.8% จากมาตรการรัฐฯ และการฟื้นตัวของศก.โลก

ส่วนทางด้าน นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้นในปี 2024 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตของจีดีพีที่ 3.8% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว

นายเชียวกล่าวว่า การเติบโตนี้จะมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาล และการฟื้นตัวของการค้าขายทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะแม้ว่าการท่องเที่ยวของจีนจะชะลอตัว แต่นโยบายฟรีวีซ่าก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้ประโยชน์กลับมาท่องเที่ยวในไทยได้

ในปี 2024 เอชเอสบีซี คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ แต่หากราคาอาหารสูงขึ้นก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี 2024 และเงินบาทน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 34.2 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในช่วงสิ้นปี 2024 ขณะที่ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนมิถุนายน 2024

HSBC แนะลงทุนตราสารหนี้รับเฟดลดดอกเบี้ย

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง มองว่า นักลงทุนควรนำเงินสดไปลงทุนในพันธบัตรคุณภาพดี หุ้นของสหรัฐฯ และเอเชีย และทางเลือกอื่นๆ ที่น่าจะเป็นแหล่งผลตอบแทนและรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้

เอชเอสบีซีมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตราสารหนี้ในกลุ่มอันดับเครดิตน่าลงทุนเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับหุ้น หุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นเอเชียในประเทศที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ 

จากการคาดการณ์ของเอชเอสบีซี GDP ของเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นจะเติบโต 4.5% ในปีนี้ หรือเกือบสองเท่าของอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกที่ 2.4% โดยคาดว่าอินเดียจะมีการเติบโตมากสุดที่ 6% ตามด้วยอินโดนีเซียที่ 5.2% และจีนที่ 4.9% 

ดังนั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียที่มีโมเมนตัมเชิงบวกและมีการเติบโตเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ซึ่งอินเดียและอินโดนีเซียมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน มีผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางและประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และมีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จำนวนมาก

สำหรับตลาดหุ้นไทย เอชเอสบีซี มองว่า ผลประกอบการโดยรวมคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลกและการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอาจเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งตลาดได้

 

 

 

แชร์
Citibank - HSBC ประเมิน GDP ไทยปีนี้โต 3.6-3.8%  เงินเฟ้อ 1.7% คาดแบงก์ชาติคงดอกเบี้ย 2.5% ถึงปี 2025