การรัฐประหารในเมียนมาผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจในเมียนมายังคงไม่ฟื้นตัว ประชาชนต้องประสบความลำบากจากการที่ต่างชาติถอนการลงทุนเพื่อคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการทหาร เกือบครึ่งต้องกลายเป็นคนยากจน ราคาของก็เฟ้อจนประชาชนที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานได้
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนไปดูสภาพเศรษฐกิจของเมียนมากันว่าหลังจากเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2021 แล้วมีพัฒนาการแย่ลงอย่างไรบ้าง และอนาคตของเมียนมาจะเป็นอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่สงบลง
ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหารในปี 2021 เศรษฐกิจของเมียนมาเคยพัฒนามาได้ค่อนข้างดีในช่วงหลังจากมีการเลือกตั้งรับรัฐบาลพลเรือนเข้าไปทำงานในปี 2015 โดยมีการเติบโตอยู่ในระหว่าง 3.2-7.5%
ทั้งนี้ เมื่อมีการรัฐประหาร การเติบโตของ GDP ในปี 2021 ก็ดิ่งฮวบลงทันที โดยติดลบถึง 17.9% ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจครั้งที่ร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากการที่หลายๆ ประเทศ และหลายธุรกิจจากต่างชาติในหลายอุตสาหกรรมประกาศคว่ำบาตรไม่ทำธุรกิจกับเมียนมาเพื่อประท้วงการกระทำของคณะรัฐประหาร
การคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบร้ายแรงให้กับเมียนมามากที่สุดคือการคว่ำบาตรจากบริษัทใหญ่ในภาคพลังงาน เช่น Chevron จากสหรัฐฯ Petronas จากมาเลเซีย และ TotalEnergies จากฝรั่งเศส เพราะภาคพลังงานเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของเมียนมา ทำให้เมื่อเกิดการคว่ำบาตรไม่ทำธุรกิจ หรือลงทุนจากบริษัทต่างชาติ รายได้และการเติบโตจากเศรษฐกิจของเมียนมาก็ลดฮวบลงไปด้วย
จากข้อมูลของ The Directorate of Investment and Company Administration (DICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของเมียนมา การลงทุนจากต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดยลดลงจาก 3,791.398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 ลงมาเหลือเพียง 642.084 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และอยู่ที่เพียง 661.621 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2023-2024
นอกจากนี้ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังกีดกันไม่ให้รัฐบาลทหารและธนาคารของรัฐบาลเข้าถึงระบบการเงินโลกซึ่งจำเป็นต่อการทำธุรกิจกับต่างชาติได้ ทำให้บริษัทต่างชาติอีกหลายบริษัทถอนธุรกิจออกไปเพราะกลัวว่าการคว่ำบาตรนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในเมียนมา
การลงทุนที่ลดลงนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมายังตกต่ำ รายได้และกำลังซื้อของประชาชนลดลงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นมหาศาลจากค่าเงินที่อ่อนลง ส่งผลทำให้แม้ในปี 2022-2023 การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะกระเตื้องขึ้นมาเป็น 3.4% และ 3.7% ตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้ประชาชนเกือบครึ่งใชช้ชีวิตอยู่พ้นขีดความยากจนได้
จากข้อมูลของ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประชากรชนชั้นกลางของเมียนมาหายไปถึง 50% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของรัฐบาลเมียนมา หรือประชากรที่มีเงินใช้จ่ายน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 24.8% ในปี 2017 มาเป็น 49.7% ในปี 2023 และประชากร 76% ต้องอาศัยอยู่ในภาวะประทังชีพ (subsistence existence) คือไม่ยากจนสุดขีดแต่ก็มีเงินเพียงใช้ไปวันต่อวันให้มีชีวิต
อัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลโดยตรงมาจากการรัฐประหารที่ทำให้เกิดความไม่สงบ และการคว่ำบาตรของต่างชาติที่ทำให้คนเมียนมามีงานและรายได้น้อยลง ขณะที่ค่าเงินก็อ่อนลงจนทำให้ราคาสินค้าในประเทศเฟ้อมหาศาล ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้
ในช่วงปี 2021 ที่เกิดรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน เงินจัตอ่อนค่าลงถึง 160% จาก 1,330 จัตต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมกราคมปี 2021 มาเป็น 3,500 จัตต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นจาก 0.74% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 มาที่ 34.97% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 ก่อนจะลงมาที่ 28.58% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด
ค่าเงินที่อ่อนลงและความขาดแคลนทำให้ราคาสินค้าในเมียนมาเฟ้อขึ้นอย่างมาก เพราะผู้นำเข้าต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการนำเข้าสินค้าปริมาณเท่าเดิม
ในช่วงปี 2021-2024 ราคาข้าวสารในเมียนมาเพิ่มขึ้นจากกว่า 160% จาก 16.5 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 44.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อกระสอบ ราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 1.2 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ Viss (1.6 กิโลกรัม) ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงแก๊สโซลีน-ออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 525% จาก 0.2 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร
จากการวิเคราะห์ของ UNDP การหายไปของประชากรชนชั้นกลางจะส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจในอนาคตของในระยะยาว เพราะประชากรกลุ่มนี้ควรจะเป็นแรงงานและผู้บริโภคกลุ่มสำคัญของประเทศ ทำให้หากไม่มีประชากรที่มีรายได้ถึงระดับกลางในประเทศแล้ว ก็ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้
นอกจากนี้ ความยากจนยังทำให้ประชากรอายุน้อยจำนวนมากในเมียนมาไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ทำให้เมียนมาเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงในอนาคต ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจของเมียนมามีโอกาสน้อยลงไปอีกที่จะฟื้นตัวให้ถึงก่อนการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจของเมียนมาจะถดถอยและซบเซาลงจนเข้าขั้นวิกฤต 2 ปัจจัยที่ทำให้เมียนมายังสามารถประคองตัวอยู่ได้ก็คือ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า และการลงทุนและทำธุรกิจจากบางประเทศ รวมไปถึงประเทศไทย ที่ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจกับรัฐบาลเผด็จการต่อ แม้รัฐบาลชุดนี้จะละเมิดสิทธิมนุษยชนและใช้ความรุนแรงทั้งทางกฎหมายและทางทหารกับประชาชนที่เห็นต่าง
ในช่วงที่อุตสาหกรรมในเกือบทุกภาคส่วนซบเซา อุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจของเมียนมาในขณะนี้คือ “อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า” ซึ่งเมียนมาได้เปรียบในฐานะแหล่งแรงงานราคาถูก ที่ทำให้หลายๆ บริษัทเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ และทำให้อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2022
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าอยู่ได้ด้วยการตัดสินใจของ EU ที่จะไม่หยุดป้อนงานให้กับคนงานในเมียนมา ด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งเพราะอยากช่วยเหลือให้คนเมียนมาบางส่วนยังมีรายได้ และต้องการแรงงานราคาถูกที่หาไม่ได้ในที่อื่น ซึ่งก็ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบริษัทตะวันตกเหล่านี้ยังคงเปิดโรงงานผลิตในเมียนมาอยู่เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้า
ในปี 2022 คนงานผลิตเสื้อผ้าในเมียนมามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงมาจากพื้นที่ชนบท โดยมีรายงานว่าแม้จะยังมีรายได้ แต่ก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในช่วงที่ราคาของเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงต้องเจอกับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ แม้จะถูกรัฐบาลตะวันตกคว่ำบาตร เมียนมายังได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากบางประเทศที่ยังคงทำธุรกิจในเมียนมาต่อโดยไม่สนใจสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะสิงคโปร์ จีน และไทย ที่เป็น 3 ประเทศที่ลงทุนในเมียนมามากที่สุดในโลก
โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 มูลค่าการลงทุนของแต่ละประเทศในเมียนมาเป็นดังนี้
ตัวอย่างการลงทุนที่สำคัญของไทยในเมียนมาก็คือ การลงทุนของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) รัฐวิสาหกิจที่เป็นท่อเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดของของรัฐบาลทหารเมียนมา ใน 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติ คือ
ทั้งนี้ การลงทุนของต่างชาติเหล่านี้ก็เห็นได้ชัดว่าส่งผลดีต่อรัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อประชาชนของเมียนมาโดยรวมเพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐวิสาหกิจมากนัก อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนในรัฐบาลนี้กดขี่ประชาชนต่อไป
ดังนั้น สิ่งที่เมียนมาและประเทศโดยรอบควรกระทำคือสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และจัดให้เกิดการเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว เพื่อให้นานาชาติกลับมาทำธุรกิจกับเมียนมาอีกครั้งก่อนที่สภาพเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงจนสายเกินแก้ และทำให้ประชาชนหลายรุ่นต้องเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อ้างอิง: UNDP, East Asia Forum, The Irrawaddy, DICA