Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
4 ปีรัฐประหารเมียนมา บอบช้ำกันถ้วนหน้า และยังหาทางออกไม่เจอ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

4 ปีรัฐประหารเมียนมา บอบช้ำกันถ้วนหน้า และยังหาทางออกไม่เจอ

1 ก.พ. 68
09:56 น.
|
275
แชร์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหาร นำไปสู่การจับกุมผู้นำรัฐบาลพลเรือนทั้งหมด รวมถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ส่งผลให้การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยสิ้นสุดลง นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศเมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกมิน อ่อง หล่ายและพวกพ้อง ส่งผลทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา

บอบช้ำกันทุกฝ่าย

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอ.ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน การเมืองเมียนมาถูกแบ่งออกเป็นสามก๊ก คือ ฝ่ายเผด็จการรัฐบาลทหารเมียนมา ฝ่ายไม่เอาเผด็จการ และกองกำลังชาติพันธุ์ แต่เมื่อผ่านการสู้รบอย่างยาวนาน ตอนนี้ต่างบอบช้ำกันหลายฝ่าย รัฐบาลทหารเมียนมาก็บอบช้ำ แต่มีความก้าวหน้าตรงที่ตั้งใจจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้

ส่วนกลุ่มต่อต้านก็มีความก้าวหน้า สามารถยึด Township หรือตำบลได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตำบลเหล่านี้ล้วนเป็นฐานเสียงของเขตเลือกตั้ง หากกลุ่มต่อต้านยึดตำบลได้มากพอ ก็จะอ้างการสร้างเขตปลดปล่อยเพื่อตั้งรัฐบาลแข่งกับรัฐบาลที่เนปิดอว์ได้ แต่ถ้าหากทำไม่ได้ รัฐบาลทหารเมียนมาก็จะสามารถกุมอำนาจบางอย่างที่จะจัดการเลือกตั้ง ซึ่งนำไปสู่การมีรัฐบาลผสม ส่วนมิน อ่องหล่ายจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างไรหรือลงจากตำแหน่งก็ต้องรอดู

อย่างไรก็ตาม สันติภาพจะเกิดขึ้นในเมียนมาได้จริงหรือไม่ หลักๆต้องจับตาสองปัจจัยคือ 1. การเลือกตั้ง 2.การเจรจาสันติภาพ ถ้าหากมีการเจรจาเกิดขึ้นก่อน แล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งนั้นน่าจะบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น แต่ถ้าเกิดการเลือกตั้งก่อน แล้วจัดตั้งรัฐบาลผสม ค่อยมาจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาสันติภาพ นั่นหมายความว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็จะเป็นไปตามที่รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการ แต่ฝ่ายอื่นอาจจะไม่ต้องการ ดังนั้น กลุ่มที่ชนะก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับเสียเท่าไร ปัญหาเดิมก็จะตามมา การสู้รบของฝ่ายต่อต้านก็ยังคงอยู่  ดังนั้นการเลือกตั้งจึงอาจจะเป็นเพียงเครื่องมือของทหารเมียนมาในการลดความร้อนแรงของสถานการณ์ลง แต่อาจจะไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ส่วนตั้งแต่เกิดรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน มีรายงาน รัฐบาลทหารได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 6,224 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเด็ก 711 คน และผู้หญิง 1,387 คน

เศรษฐกิจเมียนมาทรุด จีดีพีหดตัว ค่าครองชีพพุ่ง

ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เมื่อปี 2020  เมียนมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเป็น 77,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา จีดีพีลดลงเหลือ 64,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนค่าครองชีพก็แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและสงคราม โดยค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 1,350 จ๊าตต่อดอลลาร์ในปี 2020 เป็น ประมาณ 4,500 จ๊าตต่อดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2025 ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ราคาทองคำก็พุ่งสูงขึ้น จาก 1,315,500 จ๊าตต่อแท่ง เป็น 6,400,000 จ๊าตต่อแท่ง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า โดยน้ำมันเบนซิน Octane 95 ขยับจาก 770 จ๊าตต่อลิตร เป็น 3,200 จ๊าตต่อลิตร

Irrawaddy

แชร์
4 ปีรัฐประหารเมียนมา บอบช้ำกันถ้วนหน้า และยังหาทางออกไม่เจอ