ความขัดแย้งระหว่าง ‘รัฐบาล’ กับ ‘แบงก์ชาติ’ กลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลัง ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกมาขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” กล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น ‘ตัวปัญหา’ และ ‘อุปสรรค’ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
คำพูดนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสื่อและนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตามหลักการแบงก์ชาติเป็นหน่วยงานที่ควรจะมีอิสระในการตัดสินใจเพื่อดำเนินนโยบายการเงินอย่างที่เห็นสมควรจากการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ถูกโน้มน้าวด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองเหมือนนโยบายการคลัง ร้อนไปถึงนายกฯ เศรษฐาที่ต้องออกโรงแก้ข่าวว่า รัฐบาลไม่ได้คิดบีบหรือกดดันธปท. หรือคิดจะเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแต่อย่างใด
เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ในมหากาพย์ความขัดแย้งของรัฐบาลเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ เพราะทั้งสองฝั่งเห็นต่างกันมาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบาย และเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต จนมีคนคาดการณ์ว่าหากมีปัญหากันไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็อาจจะ ‘สั่งปลด’ ผู้ว่าฯ ก่อนที่ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันจะหมดวาระการทำงานในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568
แต่ตามกฎหมายแล้ว ใครมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ?
รัฐบาลมีอำนาจสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจริงหรือไม่?
และถ้าปลดได้จะต้องทำอย่างไร?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ในบทความนี้ SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกลไกและกระบวนการในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกันว่าทำอย่างไร และทำไมอิสระในการทำงานของแบงก์ชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการธปท. จะมาจากการสรรหา และคัดเลือกโดย ‘คณะกรรมการคัดเลือก’ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประกอบไปด้วยกรรมการ 7 คนที่จะต้องเป็นคนที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจและการเงินของประเทศมาก่อน อาทิ
นอกจากนี้ กรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้ส่วนเสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับประกันว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ว่าการธปท. และสมาชิกคณะกรรมการธปท. ระดับสูงอื่นๆ จะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การทำงานของแบงก์ชาติไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร
ในปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก่อนผู้ว่าฯ คนปัจจุบันดำรงตำแหน่งครบวาระเป็นจำนวนอย่างน้อย 90 วัน หรือหากผู้ว่าฯ พ้นตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีฯ จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกภายใน 15 วัน หลังผู้ว่าฯ พ้นตำแหน่ง
จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดรับใบสมัครจากผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ ก่อนที่จะคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าฯ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน ให้แก่รัฐมนตรีฯ ทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
จากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือการเงินการธนาคาร ต้องมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของธปท. และมีคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้
นอกจากนี้ ผู้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องมีคุณสมบัติด้านการศึกษาและประสบการณ์ทำงานอีก ดังนี้
ในอดีต ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่ใช้มาจนถึงปี 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยสามารถเสนอแต่งตั้งและปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ โดยไม่ต้องระบุเหตุผลหรือข้อหา ต่างจาก พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่มาของผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ดังนั้น ก่อนที่จะมีการใช้พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีสิทธิสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ตามกฎหมาย และในระยะเวลา 82 ปีที่มีการก่อตั้งแบงก์ชาติมาในปี 2485 รัฐบาลได้สั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมาแล้ว 4 คน ได้แก่
ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่สามารถสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้โดยไม่ให้เหตุผลได้อีกต่อไปแล้ว เพราะจะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด คือ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันยังได้ให้อำนาจคณะกรรมการธปท. สามารถเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ด้วย หากผู้ว่าฯ มีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยผู้ว่าฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายในระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่ง
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ารัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจพอสมควรในการคัดเลือก แต่งตั้ง และปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง ทำให้ในประเทศไทย หากรัฐบาลและแบงก์ชาติมีความเห็นต่างกันในการดำเนินนโยบายการเงิน ผู้ว่าฯ ก็มีโอกาสเสียตำแหน่งได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ และคณะกรรมการของธปท. ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศควรจะมีอิสระพอสมควรในการดำเนินนโยบายตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องคิดถึงจุดประสงค์ทางการเมืองเพราะในบางครั้ง สิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องตอบสนองเพื่อรักษาฐานเสียง ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว
การดำเนินนโยบาย ทั้งการปรับดอกเบี้ย การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และการแทรกแซงค่าเงิน ต้องอาศัยข้อมูลและปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาร่วมอย่างรอบด้าน และนักการเมืองและประชาชนไม่ได้เข้าถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับลึก รวมไปถึงไม่ได้มีความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนมา
โดยในอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เคยหลุดออกจากตำแหน่งเพราะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมาแล้ว คือ นายประมวล สภาวสุ ที่ปลด นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนที่ 11 ไปเพราะมีความเห็นต่างกันเรื่องการดำเนินอัตราดอกเบี้ย ที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่สุดท้ายก็หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีคลังไปเสียเอง เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่น
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินตามใจประชานิยม และความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการนำนโยบายการเงินมาเป็นเครื่องมือหาเสียงกับประชาชนจึงเป็นเรื่องอันตราย เพราะหากดำเนินการไปโดยไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม