ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทย ดูจะเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะตราบใดที่คนไทยยังต้องแบกภาระจ่ายหนี้หนักหนาสาหัสทุกเดือน สภาพการเงินชักหน้าไม่ถึงหลังเช่นนี้ ต่อให้รัฐบาลใช้นโยบายอัดเงินไปมากแค่ไหนก็คงไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ โดยเฉพาะ“หนี้นอกระบบ” ที่คาดว่าอาจมีมูลค่าสูงนับแสนล้านบาท หากเม็ดเงินเหล่านี้กลับเข้าระบบและลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้กลับมามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น น่าจะเป็นหนทางในการฟื้นเศรษฐกิจไทยได้จริง
สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเห็นการแถลงข่าวของรัฐบาลในการประกาศแก้หนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ภายหลังเปิดให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียน รวมถึงเจ้าหนี้ก็สามารถมาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้องได้เช่นกัน แต่ผลปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่1 ธันวาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ดังนี้
ขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบได้เข้าสู่ระบบแล้วทั้งสิ้น 1,140 ราย ซึ่งตัวเลขทั้งหมดรัฐบาลมองว่า นี่เป็นครั้งแรกที่การแก้ไขหนี้นอกระบบถูกดําเนินการอย่างจริงจังเป็นระบบมากที่สุดและตัวเลขก็สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเทียบกับเป้าหมายที่นายกฯวางไว้ยังถือว่า ห่างไกลจากเป้าหมายมากนัก นั่นจึงทำให้รัฐบาลประกาศเดดไลน์ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้มาขึ้นทะเบียน ภายใน 31 พ.ค.2567 นี้ โดยยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
คุณชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ กล่าวว่า
“เราออกมาประกาศวันนี้เพื่อให้ไปถึงผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ และคนที่เป็นลูกหนี้จะต้องออกมาแจ้งให้กับทางการได้รับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาและร่วมกันให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย โดยมีสํานักงานตํารวจแห่งชาติ มีอัยการคุ้มครองสิทธิ และมีกระทรวงการคลังโดยสรรพากร โดยเฉพาะเราจะทําการดําเนินการให้เจ้าหนี้มาสู่กรอบของกฎหมายถ้าท่านไม่มา เราก็จะดําเนินการอย่างเข้มข้นโดยมีระยะเวลาในการดําเนินการตั้งแต่ 16 - 31 พ.ค.67 สามารถไปแจ้งด้วยตัวเองกับทางจังหวัดได้เลย”
ขณะที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอก ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสําคัญทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ และเรื่องหนี้มีความเกี่ยวพันกับข้าราชการ เพราะเมื่อข้าราชการได้รับเงินเดือนแล้วจะต้องชําระหนี้ที่เป็นสวัสดิการต่างๆในจํานวนที่สูงจึงมีเงินเหลือเพียงจํานวนหนึ่งซึ่งไม่เพียงพอต่อการครองชีพทําให้ต้องไปมีหนี้สินอื่น ทั้งบัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ
“ลูกหนี้นอกระบบจํานวนหนึ่งไม่กล้ามาลงทะเบียนเพราะเกรงว่าจะถูกคุกคาม ที่จริงมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในการปฏิบัติต่างพร้อมจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ การที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมมาแม้อัตราจะผิดกฎหมายแต่การคืนเงินต้นให้ครบยังคงเป็นหน้าที่อยู่เพียงแต่ว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ย หากว่าจ่ายหนี้ไปจนดอกเบี้ยท่วมต้นไปแล้วต้องถือว่าจบ “
การที่เจ้าหนี้ไม่มาร่วมมือไม่มารายงานตัว ไม่ลงทะเบียนทั้งที่ลูกหนี้ให้ชื่อไว้แล้วทําให้เราสันนิษฐานว่า เจ้าหนี้อาจจะไม่ประสงค์ที่จะได้รับเงินคืน รัฐไม่สามารถจะไปคุ้มครองสิทธิของท่านได้ ฉะนั้นจึงอยากให้มาปรึกษาหารือกัน เจ้าหนี้นอกระบบควรเข้ามาสู่ในระบบ ทั้งหมดสามารถเดินกันไปได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ทางกระทรวงคลังกําหนดไว้ โดยเจ้าหนี้สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบการเป็นเจ้าหนี้ให้ถูกต้องได้ที่กระทรวงการคลังและสามารถไปยื่นได้เลยทันที
ด้านพลตํารวจโท ฉัตรชัย ปิตะนีลบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะผู้แทนของรักษาการแทนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่สําคัญเป็นอย่างยิ่ง ทางตำรวจมีศูนย์การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาทําหน้าที่ทางด้านนี้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการระดมกวาดล้างมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 มีการจับกุมดําเนินคดีกับผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกําหนดรวมทั้งมีการยึดทรัพย์ จึงอยากขอให้เจ้าหนี้เข้ามาสู่ในระบบที่ถูกต้อง มิเช่นนั้น จะต้องถูกดําเนินคดีทางกฎหมายทั้งทางด้านอาญาและการยึดทรัพย์
ส่วนเรื่องของการคุ้มครองความปลอดภัย เมื่อมีการลงทะเบียนทางสํานักงานตำรวจแห่งชาติยินดีขอให้ความไว้วางใจว่า เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการแล้วจะได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี ไม่ถูกดําเนินคดี และยังถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยทางอ้อมด้วย
นายณรงค์ ศรีระสันต์ ผู้แทนอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ระบุว่า ความผิดที่เจ้าหนี้นอกระบบจะต้องเจอมีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง เช่น พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในกรณีท่านเจ้าหนี้นอกระบบปล่อยกู้ทางออนไลน์ ,พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ , พระราชบัญญัติการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งมีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ หรือความผิดฐานทวงถามหนี้ , ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ หากมีการไปข่มขู่, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโยน กรณีรวมกันหลายคนถ้าเป็นแก๊งเป็นก๊วนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ดังนั้นจึงเรียกร้องให้เจ้าหนี้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากกว่า และรัฐบาลได้มีหน่วยงานในการให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหากเจ้าหนี้ต้องการเข้าสู่กระบวนการ สามารถมาขอจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ได้เลย ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะสามารถปล่อยเงินกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย เป็นต้น
รายละเอียดเจ้าหนี้ต้องการขึ้นทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ http://www.1359.go.th/picodoc/
ส่วนลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการหรือผู้ใช้แรงงาน หากในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ไม่สะดวกทางสํานักงานอัยการสูงสุดได้เปิดบริการในวันเสาร์ 8.00 - 16:30 น.ท่านสามารถใช้บริการที่สํานักงานอัยการสูงสุดได้ทั่วประเทศ 76 จังหวัดกับอีก 37 อําเภอ