หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% มาที่ 2.25% เมื่อการประชุมวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ขณะนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต่างพร้อมใจกันประกาศอัตราดอกเบี้ยนเงินกู้ลงสูงสุดคือ 0.25% โดยเกือบทุกแบงก์ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่มีผล 1 พ.ย.67 ยกเว้น ธนาคารกรุงเทพ ที่ให้มีผลในวันที่ 24 ต.ค.67
จากการรวบรวมข้อมูลของ SPOTLIGHT พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่จะลดดอกเบี้ยต่ำสุด 0.10% ถึง 0.25% ยกเว้นธนาคารกรุงเทพ ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงต่ำสุด ที่ 0.05 %/ปีและลดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 0.20%
ธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate - MLR) ต่ำที่สุด คือ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 6.125% สูงสุดคือ ทีเอ็มบีธนชาติ 7.60% ต่อปี ส่วนธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate - MOR) ต่ำที่สุดคือธนาคารอาคารสงเคราะห์ อยู่ที่ 6.40%ต่อปี สูงสุดคือ SME D Bannk 7.80% ต่อปี และธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate - MRR) ต่ำที่สุด คือ เอ็กซิมแบงก์ MRR เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ 6.35% สูงสุดคือ SME D Bannk 7.80% ต่อปี
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันธนาคารต่างๆยังไม่ได้มีการปรับลดลงแต่อย่างใด โดยบางธนาคารระบุว่าจะคงระดับเดิมให้ได้นานที่สุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย
ขณะที่ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (คำนวณผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังไม่ได้นับรวมสินเชื่อส่วนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
แต่อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง คือไม่ได้ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของลูกหนี้ปรับลดลงในทันที เนื่องจากลักษณะสัญญาสินเชื่อทั่วไปของลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันในช่วงสัญญาอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และสินเชื่อเพื่อการลงทุนในกรณีของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs จะมีการกำหนดยอดผ่อนต่อเดือนที่คงที่ (ประกอบด้วยผ่อนดอกเบี้ย+เงินต้น) ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะมีผลในการลดยอดผ่อนดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินจะเพิ่มยอดหักเงินต้นให้ ดังนั้น ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจะอยู่ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้นแต่ลูกหนี้ยังต้องสำรองเงินเพื่อรองรับการผ่อนชำระเงินงวดในแต่ละเดือนไว้เช่นเดิม และในทางปฏิบัติ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขนาด 0.25% น่าจะยังไม่มีผลต่อการปรับค่างวดผ่อนหนี้ในแต่ละเดือน
ทั้งนี้คำแนะนำของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากลูกหนี้ต้องการลดภาระรายจ่ายโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องอาศัยการลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ หมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ หมวดที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน และหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทาง
ขณะที่ 3 ลำดับแรกของต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ได้แก่ หมวดวัตถุดิบ หมวดแรงงาน และหมวดค่าเช่าสถานที่ต่างๆ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวล้วนเป็นหมวดที่ใหญ่กว่ารายจ่ายดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยอาจปิดปี 2567 ในระดับไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ประเมินว่า ทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะข้างหน้า ที่กระทบแผนการลงทุน การบริโภค รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ก่อนที่จะเบิกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน
ธนาคารกสิกรไทย คงดอกเบี้ยเงินฝาก ลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% และต่ออายุโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี 2567 โดยนายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารพร้อมตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุด 0.25% เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็กที่รายได้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาสำหรับโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมให้สามารถปรับตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนและยังคงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย
ฟากของธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567
ส่วนธนาคารกรุงไทย ขานรับมาตรการภาครัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MLR และ MRR พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สำหรับมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล
2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท
3.ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่15 พฤศจิกายน 2567 นั้น เนื่องจากลูกหนี้ กลุ่มเปราะบางดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและปรับตัวได้ช้า ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งลูกหนี้ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้อาจมีระดับหนี้ที่สูง ความสามารถในการมีรายได้ในระดับที่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายอย่างเหมาะสม และยังอยู่ระหว่างที่ภาครัฐกำลังเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ธนาคารจึงยังมีการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าวต่อเนื่องออกไปอีกจนถึง 31 มีนาคม 2568 จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี ต่อเนื่องออก ไปอีก คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อัตโนมัติสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มที่มียอดสินเชื่อกับธนาคาร ณ 31 มีนาคม 2567
ด้าน ธ.ก.ส.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุดร้อยละ 0.25 พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งเสริมวินัยการออม ซึ่งนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธ.ก.ส. ระบุ พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในการดูแลปัญหาหนี้สิน พัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ของ เกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย โครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและ การประกอบอาชีพ เช่น สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร ระยะที่ 2 สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อเงินด่วนคนดี สำหรับ สมาชิก อสม. และ อสส. และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ เป็นต้น
ปิดท้ายที่ SME D Bank ช่วยผู้ประกอบการลดภาระ ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ควบคู่เสิร์ฟสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หนุนยกระดับสู่ธุรกิจสีเขียวเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน โดยนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เสริมว่า นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยแล้วธนาคารยังพร้อมบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระ มีสภาพคล่องเพียงพอ และสนับสนุนให้เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น สินเชื่อ "SME Green Productivity" ช่วยยกระดับเพิ่มผลิตภาพให้ธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก เงินสูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี อีกทั้ง ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน มีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็กู้ได้ ควบคู่บริการด้านการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม “DX by SME D Bank” (dx.smebank.co.th) เสริมแกร่งธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ครบถ้วนในจุดเดียว