สหภาพยุโรป หรือ ‘อียู’ ออกมาตรการกีดกันรถยนต์ไฟฟ้าจีน เพิ่มภาษีนำเข้าอีวีที่ผลิตจากจีนสูงสุด 38% เพิ่มทบไปกับภาษีนำเข้าเบื้องต้น 10% รวมเป็นสูงสุด 48% คาดทำผู้ผลิตจีนต้นทุนธุรกิจในยุโรปเพิ่มมหาศาล จับตามาตรการโต้ตอบจากจีน รถและสินค้าหรูจากยุโรปเสี่ยงกระทบ
เป็นที่จับตามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สำหรับมาตรการของสหภาพยุโรปที่จะมีต่อการนำเข้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศจีน หลังจากในวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2023 อียูได้เริ่มการสืบสวนเพื่อหาว่ารัฐบาลจีนได้ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ผลิตอีวีของจีนจนราคารถยนต์ถูกเกินไป และเป็นการจงใจตัดราคาเพื่อบิดเบือนราคาตลาดหรือไม่
ในที่สุด หลังจากทำการสืบสวนมามากกว่า 9 เดือน ในวันที่ 12 มิถุนายน สหภาพยุโรปก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่า ยุโรปจะเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีน ทบเพิ่มจากภาษีนำเข้าเบื้องต้น 10% โดยระดับภาษีที่เก็บเพิ่มนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ ดูจากผลการสืบสวน และความร่วมมือของแบรนด์ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการสืบสวน
ในการเพิ่มภาษีในครั้งนี้ ผู้ผลิตอีวีจากจีนต่างต้องเจอกำแพงภาษีที่สูงขึ้นในการส่งออกรถยนต์ไปยุโรปทั้งหมด โดยผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ‘BYD’ ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมทั้งหมด 17.4% รวมเป็น 27.4% ‘Geely’ ผู้ถือหุ้นใหญ่ Volvo ต้องจ่ายเพิ่ม 20% รวมเป็นทั้งหมด 30% ขณะที่ ‘SAIC’ เจ้าของแบรนด์ MG ต้องจ่ายเพิ่มสูงสุดที่ 38.1% รวมเป็น 48.1%
โดยนอกจาก 3 แบรนด์นี้ สหภาพยุโรป เผยว่า ผู้ผลิตอีวีจีนที่ให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการสืบสวนจะเจอกำแพงภาษีเพิ่มอีกประมาณแบรนด์ละ 21% ขณะที่ผู้ผลิตที่ไม่ให้ความร่วมมือจะเจอระดับภาษีเพิ่มเติมสูงที่สุดที่ 38.1% และมาตรการนี้จะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าอีวีจีนไปยังประเทศสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นมหาศาล เป็นจำนวนหลายพันล้านยูโร
ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป มาตรการใหม่นี้จะมีผลในวันที่ 4 กรกฏาคม และในช่วงระหว่าง 12 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม ผู้ผลิตอีวี จีนจะมีโอกาสในการแสดงหลักฐาน และข้อมูลอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนผลการตัดสิน ทำให้ระดับภาษีที่เพิ่มมาในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงเวลาใช้จริงในเดือนหน้า
ดังนั้น ผู้ที่ซื้อรถยนต์ของจีนก่อนหน้าที่จะมีประกาศของอียูและได้มีการตกลงราคากันแล้ว ไม่น่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แต่ก็ต้องตรวจสอบกับสัญญากับบริษัทรถก่อนว่าเงื่อนไขในการชำระค่ารถและภาษีเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ อียูยังเชื่อว่าผู้ผลิตรถอีวีใหญ่ระดับโลกอย่าง BYD น่าจะยอมรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและแข่งขันกับผู้ผลิตในยุโรปได้ เพราะการเพิ่มภาษีเป็นการทำให้ราคารถยนต์ของจีนขึ้นมาถึงระดับที่สมควรจะเป็นก่อนที่จะมีการแทรกแซงของรัฐบาลจีนเท่านั้น
ก่อนเริ่มการสืบสวนในปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ให้เหตุผลไว้ว่า การสืบสวนนี้เกิดขึ้นเพราะอียูมองว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เข้าไปแทรกแซงและให้เงินสนับสนุนการผลิตอีวีจีนมากเกินไป จนราคาอีวีจีนต่ำกว่าความเป็นจริง และเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด
โดยการแทรกแซงที่ว่านี้ อียูเชื่อว่าอยู่ในหลายขั้นตอนในซัพพลายเชนของรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ไม่ว่าจะเป็นการถลุงแร่ การให้เงินสนับสนุนและลดหรือยกเว้นภาษีให้กับบริษัททำแบตเตอรี่ การผลิตและออกแบบรถยนต์ รวมไปถึงการปล่อยที่ดินในราคาถูก หรือฟรีๆ ให้กับบริษัทรถยนต์เหล่านี้ตั้งโรงงานผลิตรถ
การเข้าไปให้เงินอุ้มและให้ปัจจัยการผลิตสนับสนุนฟรีๆ นี้ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีราคาถูกมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในยุโรป ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก ทั้งค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าที่ดิน ทำให้ต้องพยายามลดราคารถยนต์เพื่อแข่งขัน จนมีทั้งรายได้และกำไรต่ำลง ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการลงทุนของผู้ผลิตรถยุโรปในอนาคต
โดยจากการสืบสวน พบว่า มีจีนมีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวที่มีเรทดอกเบี้ยต่ำกว่าในตลาดโลกมากเพื่อสนับสนุนบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งอียูมองว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะกินรวบ และครองตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีสีเขียวของโลก รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม ด้วย
จากข้อมูลของอียู พบว่า ในปี 2023 รถยนต์ที่ผลิตในจีน (รวมแบรนด์ต่างประเทศที่ผลิตในจีน เช่น Tesla) คิดเป็น 25% ของรถที่จำหน้ายทั้งหมดในสหภาพยุโรป
ในเบื้องต้น รัฐบาลจีนยังไม่ได้ออกมาตรการโต้ตอบใดๆ แต่ได้ออกแถลงการณ์แล้วว่า รัฐบาลจีนนั้นจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดในการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทจีน และมองว่าการสืบสวนนี้เป็นพฤติกรรมกีดกันการค้าที่จะทำลายความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนและอียู รวมถึงความมั่งคงของสายพานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก
ทั้งนี้ แม้สหภาพยุโรปจะตัดสินใจเพิ่มภาษีอีวีจีนเพื่อปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศไม่ให้เจอชะตากรรมเดียวกับผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในยุโรปที่ถูกโซลาร์เซลล์ราคาถูกจากจีนเข้ามา disrupt จนต้องปิดตัวลง ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปกลับมองว่ามาตรการนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ดีนัก เพราะรถยุโรปก็ต้องพึ่งพายอดขายในจีนเช่นกัน
นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังจะกระทบกับผู้ผลิตยุโรปที่ไปตั้งโรงงานผลิตในจีน เช่น Volkswagen ที่จะโดนหางเลขไปด้วยแม้จะเป็นบริษัทยุโรป โดยในปัจจุบัน ประมาณ 50% ของรถอีวีที่นำเข้าจากจีนในยุโรปเป็นรถที่ผลิตโดยโรงงานผลิตของบริษัทยุโรป
ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป จึงมองว่า การออกกำแพงภาษีนั้น เป็นมาตรการที่จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของยุโรป เพราะนอกจากจะกระทบยอดขายของบริษัทยุโรปเองแล้ว ยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับจีน ซึ่งจะลามไปสู่สินค้าอื่นๆ อีกในอนาคต รวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมหรูต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของยุโรป และมีจีนเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่
อ้างอิง: The Guardian, Reuters